Newsletter subscribe

Agriculture, การแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายและทางเลือกทดแทน

การแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตราย#3 คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)

Posted: 14/07/2020 at 17:01   /   by   /   comments (0)

คลอร์ไพริฟอส

คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช (insecticides) ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate compound) ที่เป็นสารอินทรีย์ที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ใช้เพื่อฆ่าแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส (acetylcholinesterase) ในระบบประสาทของแมลง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้คลอร์ไพริฟอสเป็นสารประกอบที่มีอันตรายในระดับปานกลางตามความเป็นพิษเฉียบพลันของมัน การได้รับสารชนิดนี้ที่สูงกว่าระดับที่แนะนำนั้น เชื่อมโยงกับผลกระทบทางระบบประสาท, ความผิดปกติของพัฒนาการแบบถาวร และความผิดปกติของภูมิต้านทานผิดปกติ การได้รับสารนี้ในระหว่างตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อพัฒนาการทางประสาทของเด็ก

คลอร์ไพริฟอสได้รับการจดสิทธิบัตรครั้งแรกในปี 1966 โดย Dow Chemical Company ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น Corteva ตามการควบรวมกิจการกับ DuPont ในปี 2019 ปัจจุบันคลอร์ไพริฟอสจดทะเบียนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา 

การใช้

คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้กันมากทางการเกษตรเพื่อกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืชในพืชผลต่างๆ มากกว่า 50 ชนิด  และใช้ประโยชน์ในด้านสาธารณสุขเพื่อกำจัดแมลงในที่อยู่อาศัยตามอาคารบ้านเรือน เช่น ปลวก มด แมลงสาบ เป็นต้น

ในภาคการเกษตร คลอร์ไพริฟอสเป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืชที่ใช้ฉีดพ่นลงในแปลงเกษตร จากคุณสมบัติของสารคลอร์ไพริฟอสในการออกฤทธิ์กำจัดแมลงได้หลายชนิด ทั้งเพลี้ย หนอนชนิดต่างๆ และแมลงศัตรูพืชในดิน เกษตรกรใช้ฉีดพ่นลงบนใบพืช หรือราดลงดิน รองก้นหลุม ฉีดเข้าต้นพืชตามรูเจาะของแมลง หรือใช้สำหรับรักษาเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชในโรงเก็บ

ความเป็นพิษ

สารกำจัดศัตรูพืชคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นสารเคมีในกลุ่มสารประกอบออร์แกโนฟอสฟอรัสที่มีฤทธิ์ในการทำลายระบบประสาทของสิ่งมีชีวิต ประเภทเดียวกับก๊าซซาริน (Sarin gas) ที่ถูกนำมาใช้ในการทำสงครามหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่คลอร์ไพริฟอสมีพิษน้อยกว่าก๊าซซาริน 

ผลกระทบของยาฆ่าแมลงต่อสัตว์และคนได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี 1970 โดยมีการศึกษามากกว่า 2,000 ครั้ง และรายงานที่ตีพิมพ์ซึ่งประเมินผลกระทบของสารออกฤทธิ์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์โดยเฉพาะในเด็ก จากการศึกษาพบว่ายากำจัดแมลงศัตรูพืชคลอร์ไพริฟอสที่ใช้ในแปลงผักและผลไม้หลายหลากชนิดส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระดับต่างๆ เช่น เป็นพิษต่อนกและแมลงรวมถึงผึ้งในระดับสูง เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำโดยเฉพาะกับปลาในระดับสูง คลอร์ไพริฟอสถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ในระดับปานกลางโดยองค์การอนามัยโลกตามความเป็นพิษเฉียบพลันของมัน 

สำหรับมนุษย์ เมื่อได้รับคลอร์ไพริฟอสเข้าสู่ร่างกายในปริมาณปานกลาง จะทำให้ระบบประสาทถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย และหากได้รับในปริมาณที่สูงมาก เช่น จากการรั่วไหลหรืออุบัติเหตุ จะทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน ผู้ที่ได้รับสารพิษเข้าไปจะกลายเป็นอัมพาต เนื่องจากระบบประสาทหยุดทำงาน รวมไปถึงระบบการหายใจก็จะหยุดการทำงานเช่นกัน และอาจถึงแก่ชีวิต เมื่อใช้สารเคมีคลอร์ไพริฟอสในแปลงเกษตร คนงานจะต้องสวมใส่ชุดป้องกัน เช่น เครื่องช่วยหายใจ และคนงานควรจะถูกบล็อกไม่ให้เข้าไปในฟาร์มจาก 24 ชั่วโมงถึง 5 วันหลังจากการใช้งาน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมี

วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบของคลอร์ไพริฟอสต่อสุขภาพของเด็กนั้นชัดเจน คลอร์ไพริฟอสเป็นพิษทางระบบประสาทที่ทำลายสมองของเด็ก การได้รับสารคลอร์ไพริฟอสของมารดาในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางประสาทของทารกในครรภ์และเด็กเล็ก นำไปสู่การลดการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจ, IQs ต่ำ, ความผิดปกติของสมาธิ, พัฒนาการล่าช้าและโฮสต์ของพัฒนาการและการเรียนรู้

 

 

Kelly Clarkson – Piece by Piece

 

 

ผลกระทบของคลอร์ไพริฟอสต่อพัฒนาการทางระบบประสาทของมนุษย์

env-health.org

สารเคมีคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่นิยมใช้ทั่วโลกในภาคเกษตรกรรม สารเคมีนี้สามารถก่อให้เกิดพิษต่อระบบประสาทของมนุษย์ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ เกษตรกรและครอบครัวเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีคลอร์ไพริฟอส ประชากรที่มีขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น คนที่อาศัยใกล้หรือในพื้นที่เกษตรกรรม และผู้บริโภคที่รับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีคลอร์ไพริฟอสตกค้าง สำหรับเด็กมีความเสี่ยงมากที่สุดเพราะสมองของพวกเขาอยู่ระหว่างการพัฒนา หากระบบประสาทใดๆ เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กอย่างร้ายแรง เช่น ไอคิวต่ำ (Low IQ), ความจำสั้น (Memory loss), สมาธิสั้น (ADHD), ออทิสติก (Autism), เคลื่อนไหวเชื่องช้า และมีอาการสั่นของโรคพาร์กินสัน (Parkinson)

การสัมผัสสารเคมีคลอร์ไพริฟอสในเด็กสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะก่อนคลอด (prenatal exposure) ขณะทารกอยู่ในครรภ์มารดา และระยะหลังคลอด (postnatal exposure)

ระยะก่อนคลอด สารคลอร์ไพริฟอสจะส่งผ่านจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ผ่านทางสายสะดือ ส่วนในระยะหลังคลอด สารเคมีจะถูกส่งผ่านจากมารดาไปสู่ทารกทางน้ำนมแม่เป็นหลัก รองลงมาคือ การสัมผัสคลอร์ไพริฟอสที่ตกค้างในอาหาร จากพฤติกรรมที่ชอบเอามือเข้าปากของเด็ก และการสูดหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนคลอร์ไพริฟอสเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น

การศึกษาจำนวนมากในมนุษย์ที่มีการติดตามผลระยะยาว ยืนยันว่าสารคลอร์ไพริฟอสสามารถส่งผ่านจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้ทางสายสะดือ และส่งผลกระทบระยะยาวต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านต่างๆ ของทารกและเด็กเล็ก ช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาเป็นช่วงที่สมองของทารกมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว หากได้รับสารคลอร์ไพริฟอสแม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย สามารถทำให้สมองเสียหาย มีผลต่อเนื่องไปถึงช่วงวัยทารกในขวบปีแรกที่สมองยังคงมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ทำให้การเรียนรู้ ความจำ ความคิด ทักษะพื้นฐานและอื่นๆ ของเด็กที่เกิดมาเป็นไปช้ากว่าปกติ และอาจมีผลไปตลอดชีวิต

 

ตัวอย่างการศึกษาผลกระทบของคลอร์ไพริฟอสต่อการพัฒนาการทางระบบประสาทของเด็ก

Cores and Prenatal Exposure to Chlorpyrifos, a Common Agricultural Pesticide (2011)

การศึกษาของศูนย์สุขภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กโคลัมเบีย (Columbia Center for Children’s Environmental Health) ในปี 2011 ซึ่งศึกษาความเสียหายของระบบประสาทในกลุ่มเด็กอายุ 7 ขวบจำนวน 265 คน จากการได้รับคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ก่อนคลอด จากการศึกษาพบว่าเด็กที่ได้รับสารคลอร์ไพริฟอสขณะอยู่ในครรภ์มารดา จะมีปัญหาพัฒนาการทางระบบประสาท ส่งผลให้เด็กมีความจำไม่ดีและมีระดับไอคิวต่ำ การค้นพบนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการศึกษาที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ หรือ EPA ใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงในการเสนอการแบนสารคลอร์ไพริฟอสในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2015

 

Brain Anomalies in Children Exposed Prenatally to a Common Organophosphate Pesticide (2012)

นักวิจัยทำการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และโครงสร้างของสมองในเด็ก 40 คน ที่มีอายุระหว่าง 5.9–11.2 ปี  ซึ่งมารดาได้รับสารคลอร์ไพริฟอสระหว่างตั้งครรภ์ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูง 20 คน (มีระดับความเข้มข้นของสารคลอร์ไพริฟอสสูงในเลือดจากสายสะดือ)  และกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงต่ำ 20 คน (มีระดับความเข้มข้นของสารคลอร์ไพริฟอสต่ำในเลือดจากสายสะดือ) นักวิจัยได้ศึกษาโครงสร้างของสมองในเด็กทั้ง 2 กลุ่ม โดยใช้การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging; MRI) แล้วเปรียบเทียบกัน

ผลงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารคลอร์ไพริฟอสของทารกขณะอยู่ในครรภ์มารดา ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสมองเด็กที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะในส่วนของ Frontal parietal และ lateral temporal ซึ่งทำหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการควบคุมด้านความจำและสติปัญญา (IQ)

 

Prenatal Exposure to the Organophosphate Pesticide Chlorpyrifos and Childhood Tremor (2015)

อาการสั่น (Tremor) เป็นอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับสมองน้อยที่เรียกว่า ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย

อาการสั่นพบได้บ่อยในประชากรมนุษย์โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีอาการมือสั่น มีสาเหตุมาจากโรคพาร์กินสัน (Parkinson) 

การศึกษาของคณะวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neurotoxicology ปี 2015 ได้ระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างการได้รับสารกำจัดแมลงศัตรูพืชคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ขณะทารกอยู่ในครรภ์มารดา ทำให้เกิดอาการสั่นของร่างกายหรือกล้ามเนื้อกระตุกในวัยเด็ก 

ในการศึกษา นักวิจัยได้ติดตามเด็ก 263 คนที่ได้รับคลอร์ไพริฟอสขณะอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 11 ปี และค้นพบว่าเด็กเหล่านี้มีอาการสั่นของร่างกาย ศาสตราจารย์ Elan Louis MED ผู้เขียนอาวุโส กล่าวว่า “นี่อาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างเดียวที่เราสามารถแสดงให้เห็นว่า การได้รับคลอร์ไพริฟอสของทารกในครรภ์ผ่านทางมารดา อาจทำให้เกิดอาการสั่นของร่างกายใน 8 หรือ 10 ปีต่อมา ทำให้ต้องดูแลสุขภาพในระยะยาวในเด็ก”

การค้นพบของการศึกษานี้นำไปสู่การวิจัยอย่างกว้างขวางที่ชี้ให้เห็นว่า การได้รับสารกำจัดศัตรูพืชเกี่ยวข้องกับโฮสต์ของการพัฒนาของระบบประสาท (host of neuro-developmental issues)

 

Prenatal naled and chlorpyrifos exposure is associated with deficits in infant motor function in a cohort of Chinese infants (2017)

การศึกษาในปี 2017 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเก็บเลือดจากสายสะดือของทารกชาวจีน 199 คน เพื่อทดสอบหาสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต 30 ชนิด เด็กๆ ได้รับการตรวจอีกครั้งเมื่ออายุได้ 6 สัปดาห์และ 9 เดือน เพื่อประเมินทักษะการเคลื่อนไหว รวมถึงการตอบสนอง การเคลื่อนที่ การจับ การใช้ทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor skill) เช่น การหยิบวัตถุขนาดเล็กด้วยนิ้วมือสองนิ้ว และการใช้ทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (gross motor skills) เช่น การคลาน

นักวิจัยตรวจพบยาฆ่าแมลงกลุ่ม organophosphate naled, methamidophos trichlorfon, chlorpyrifos และ phorate มากกว่า 10% ของเด็ก และพบว่าการสัมผัสกับสารคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ของทารกขณะอยู่ครรภ์มารดา มีผลทำให้เด็กทารกอายุ 9 เดือนมีพัฒนาการด้านความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้สัมผัสกับสารคลอร์ไพริฟอส นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กทารกเพศหญิงมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าเด็กทารกเพศชาย แสดงให้เห็นว่าเด็กทารกหญิงมีความไวต่อผลกระทบที่เป็นอันตรายจากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate) มากกว่าเด็กชายทารก

 

Prenatal and infant exposure to ambient pesticides and autism spectrum disorder in children: population based case-control study (2019)

การศึกษานี้เป็นการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในการตรวจสอบการสัมผัสกับสารกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร 11 ชนิดรวมทั้งคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) กับผลกระทบต่อออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder; ASD)

หมายเหตุ : ออทิสติกสเปกตรัมหรือ ASD เป็นโรคทางจิตเวชเด็ก ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติของการพัฒนาระบบประสาท ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากปกติ ทําให้เกิดความบกพร่องใน 2 ด้านหลัก คือ ด้านสังคมและการสื่อสาร และด้านพฤติกรรมและความสนใจ

ข้อมูลจากทะเบียนการใช้สารกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตรที่ใช้กันทั่วไป 11 ชนิดรวมทั้งคลอร์ไพริฟอสของรัฐแคลิฟอร์เนีย ถูกรวมเข้ากับเครื่องมือระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เพื่อประเมินการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชของทารกก่อนคลอดและหลังคลอด เพื่อระบุผู้ป่วยเด็กเล็กจำนวน 2,961 รายที่มีการวินิจฉัยโรค ASD รวมถึง 445 คนที่เป็นโรค ASD ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และผู้ป่วยที่มีสุขภาพดี 35,370 คนในปีเกิดและเพศเดียวกัน (วัดจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชปอนด์ต่อเอเคอร์ต่อเดือนภายในระยะ 2 กิโลเมตรจากถิ่นที่อยู่ของมารดาในระหว่างตั้งครรภ์) สารกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ถูกเลือกเพราะมีการใช้งานทางการเกษตรสูงและมีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีพิษต่อการพัฒนาสมองของมนุษย์

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การได้รับคลอร์ไพริฟอสของทารกก่อนคลอดและในปีแรกของชีวิต “เพิ่มความเสี่ยงในระดับปานกลาง” ของความผิดปกติของออทิสติกสเปกตรัมซึ่งเป็นความพิการทางปัญญาในเด็กเล็ก เมื่อเทียบกับทารกของสตรีที่ไม่มีการสัมผัสเช่นนี้

 

ตัวอย่างการศึกษาที่ตรวจพบการตกค้างของคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos Residues) ในอาหารและสิ่งแวดล้อม

สารเคมีกำจัดแมลงคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ผู้อยู่อาศัยในชนบท เด็ก และคนงานในฟาร์ม กำลังตกอยู่ในอันตรายมากที่สุด รวมถึงนก สัตว์ป่าและสัตว์น้ำอื่นๆ

ก่อนที่จะมีการจำกัดการใช้คลอร์ไพริฟอสในที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา NHANES แห่งชาติ ได้ศึกษาข้อมูลจากปี 1999 ถึง 2000 ได้ตรวจพบ TCPy ซึ่งเป็น metabolite ของยาฆ่าแมลง chlorpyrifos และ chlorpyrifos-methyl ใน 91% ของตัวอย่างปัสสาวะของมนุษย์ที่ทดสอบ 

ในตัวอย่างที่เก็บระหว่างปี 2007-2009 จากครอบครัวที่อาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ พบ TCPy ใน 98.7% ของผ้าเช็ดทำความสะอาดในพื้นที่ทดสอบ และ 65% ของตัวอย่างปัสสาวะที่ทดสอบ

การศึกษาหญิงตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเกษตรกรรมในซาลินาสแวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2004 สามารถตรวจพบ TCPy ใน 76% ของหญิงตั้งครรภ์  

การตรวจสอบอากาศที่ดำเนินการโดย California Air Resources Board (CARB) เพื่อตรวจสอบคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ในอากาศของชุมชนแคลิฟอร์เนีย จากการวิเคราะห์พบปริมาณคลอร์ไพริฟอสในระดับเกินกว่าที่กำหนด

การศึกษาของ EPA ในรัฐวอชิงตัน โดยใช้เครื่องเก็บตัวอย่างอากาศแบบพาสซีฟ แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนที่อาศัยอยู่น้อยกว่า 250 เมตรจากสวนผลไม้ มีระดับความเข้มข้นของคลอร์ไพริฟอสในอากาศสูงกว่าครัวเรือนที่อยู่ไกลออกไป

 

Children’s Exposure to Chlorpyrifos and Parathion in an Agricultural Community in Central Washington State (2002)

นักวิจัยได้ตรวจหาปริมาณยาฆ่าแมลงศัตรูพืช 2 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) และพาราไธออน (parathion) ในที่พักอาศัย และปัสสาวะของเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ในชุมชนเกษตรกรรมแห่งรัฐวอชิงตันตอนกลาง พบสารคลอร์ไพริฟอสตกค้างบนฝุ่นในบ้านทุกหลัง นอกจากนี้ยังพบในรองเท้าบูทและมือเด็ก แสดงให้เห็นว่าครอบครัวเกษตรสามารถนำสารคลอร์ไพริฟอสจากการทำงานในฟาร์มกลับมายังบ้าน และการใช้ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate) ในฟาร์ม มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้น TCPy ซึ่งเป็น metabolite ของยาฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส ในปัสสาวะของเด็กของคนงานเกษตรที่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่เพาะปลูก

 

Dietary Intake and Its Contribution to Longitudinal Organophosphorus Pesticide Exposure in Urban/Suburban Children (2008)

การศึกษาปี 2008 พบว่าเด็กๆ ที่มีอายุ 3-11 ปีในเขตเมืองและชานเมืองของเมืองวอชิงตันและซีแอตเทิล ได้รับสารคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ส่วนใหญ่จากผักและผลไม้ และเมื่อเด็กเปลี่ยนไปบริโภคผักและผลไม้สดออร์แกนิค ความเข้มข้นของ metabolite ของสารคลอร์ไพริฟอสในปัสสาวะของเด็กๆ ลดลงอย่างมากจนไม่ถูกตรวจจับ นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังสังเกตเห็นว่า ฤดูกาลการเพาะปลูกส่งผลต่อความเข้มข้นของ metabolite ของสารคลอร์ไพริฟอสในปัสสาวะของเด็กๆ 

 

Exposures of 129 Preschool Children to Organochlorines, Organophosphates, Pyrethroids, and Acid Herbicides at Their Homes and Daycares in North Carolina (2014)

การศึกษาในนอร์ธแคโรไลน่า เพื่อวัดปริมาณการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช (pesticides) 16 ชนิด ของเด็กก่อนวัยเรียน 129 คน อายุ 20 ถึง 66 เดือน ได้แก่ สารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน (organochlorine) 8 ตัว, สารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphates) 2 ตัว, สารเคมีกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์ที่เลียนแบบสารสกัดจากธรรมชาติไพรีทรอยด์ (pyrethroids) 3 ตัว และสารเคมีกำจัดวัชพืช (herbicides)  3 ตัว  

ในตัวอย่างสิ่งแวดล้อม (ดิน ฝุ่น อากาศกลางแจ้ง และอากาศภายในอาคาร) และตัวอย่างของส่วนบุคคล (ผ้าเช็ดมือ อาหารแข็ง และอาหารเหลว) ถูกรวบรวมที่บ้าน 129 หลัง และศูนย์รับเลี้ยงเด็ก 13 แห่งในหกมณฑลของนอร์ธแคโรไลน่า ระหว่างปี 2000 และ 2001 สามารถตรวจพบ Chlordane, γ-chlordane, heptachlor, chlorpyrifos, diazinon, cis-permethrin, trans-Permethrin, และ 2,4-dichlorophenoxyacetic acid (2,4-D) ใน 50% ของตัวอย่างที่เด็กๆ สัมผัส โดยสรุปเด็กเหล่านี้มีโอกาสสัมผัสกับสารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดจากหลายแหล่ง และเส้นทางมายังบ้าน และภายในที่อยู่อาศัยของพวกเขา

 

 

Maroon 5 – What Lovers Do ft. SZA

 

 

มีสัตว์หลายชนิดที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากในขณะนี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัจจัยสำคัญที่มีบทบาท คือ การตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์มากเกินไป และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ปัจจัยอื่นๆ ก็มีบทบาทเช่นกัน เช่น การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ เมื่อแหล่งอาหารของพวกมันมีการปนเปื้อนจากการสัมผัสกับสารกำจัดศัตรูพืช 

คลอร์ไพริฟอส (chlorypyrifos) เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา เกษตรกรฉีดพ่นสารนี้ 6 ล้านปอนด์ต่อปีในพืชผักและผลไม้ สัตว์ป่า นก แมลง ปลา และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มีความไวต่อคลอร์ไพริฟอสที่แตกต่างกันอย่างมาก แมลงหลายชนิดรวมทั้งแมลงศัตรูพืชสามารถดูดซึมคลอร์ไพริฟอสในอัตราสูงถึง 90% ของปริมาณการสัมผัสผ่านผิวหนังของพวกมัน เช่น ผึ้ง ซึ่งเป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญที่สุดของพืชผลทางการเกษตร มีความไวต่อคลอร์ไพริฟอสสูงมาก สารนี้จึงจัดว่าเป็นพิษร้ายแรงต่อผึ้งจากการสัมผัสโดยตรง

สัตว์บางชนิด เช่น หนู สามารถดูดซึมคลอร์ไพริฟอสได้ถึง 60% ในขณะที่มนุษย์มักจะดูดซับคลอร์ไพริฟอสเพียง 3% ผ่านผิวหนังที่สัมผัส สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่บนบกอาจได้รับคลอร์ไพริฟอสโดยการกินพืชหรือแมลงศัตรูพืชที่ตายแล้ว สำหรับนกได้รับอันตรายจากปริมาณคลอร์ไพริฟอสในปริมาณสูงในเมล็ดพันธุ์พืชที่เกษตรปลูก รวมทั้งในสนามกอล์ฟ ไม้ประดับสาธารณูปโภค และพืชผักที่นกกินเข้าไป

คลอร์ไพริฟอสยังเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นพิษมากที่สุดสำหรับระบบนิเวศทางน้ำ คลอไพริฟอสเข้มข้นถูกชะล้างลงแหล่งน้ำ สิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำดูเหมือนว่าจะดูดซับคลอไพริฟอสได้โดยตรงจากน้ำ แทนที่จะกินเข้าไปผ่านทางอาหารหรือผ่านการสัมผัสกับตะกอน

จากการประเมินทางชีวภาพโดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) พบว่าคลอร์ไพริฟอส “มีแนวโน้มที่จะเป็นอันตราย” ถึง 97% ของสัตว์ป่าที่ถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์รวมถึงนกกว่า 100 ชนิด

 

ตัวอย่างการศึกษาที่แสดงผลกระทบของคลอร์ไพริฟอสต่อสัตว์น้ำและสัตว์ป่า

สำหรับสหรัฐอเมริกา พืชและสัตว์เกือบ 1,700 ชนิดในมีแนวโน้มว่าจะได้รับอันตรายที่สุดจากสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย 2 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอสและมาลาไทออน

คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ใช้กันอย่างแพร่หลายในพืชหลากหลายชนิด รวมถึงผัก ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย ถั่ว และสวนผลไม้ มีความเป็นพิษอย่างรุนแรงและเกี่ยวข้องกับอันตรายต่อระบบประสาทในเด็ก แต่สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐ (Environmental Protection Agency; EPA) ปฏิเสธที่จะแบนการใช้ chlorpyrifos ในปี 2017 แม้จะมีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าสารกำจัดแมลงศัตรูพืชชนิดนี้เป็นอันตรายต่อเด็ก คนงานในฟาร์ม และสิ่งแวดล้อม

มาลาไทออน (malathion)  เป็นยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัสที่จดทะเบียนเพื่อใช้ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1956  มาลาไทออนออกฤทธิ์ทางการสัมผัส ดูดซึมได้ดีทางผิวหนัง ใช้กันทั่วไปในการกำจัดแมลงศัตรูในพืช ผัก ผลไม้ รวมถึงเพื่อกำจัดเห็บในสัตว์เลี้ยง โลนหรือเหาในคน ในเดือนมีนาคมปี 2015 องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ามาลาไทออน “อาจเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์”

ไดอะซินอน (diazinon) เป็นยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่มักใช้ในการควบคุมแมลงสาบ มด และหมัด ในอาคารที่อยู่อาศัย

ในปี 2017 หน่วยงานบริการปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Fish and Wildlife Service; FWS) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ได้ทำการตรวจสอบสารกำจัดแมลงศัตรูพืช 3 ชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย chlorpyrifos, malathion และ diazinon ว่าเป็นอันตรายคุกคามหรือไม่ ต่อสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ที่มีอยู่ 1,663 สายพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐฯ

นักวิทยาศาสตร์ของ FWS ค้นพบว่าคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) มีความเสี่ยงต่อสิ่งมีชีวิต 1,399 สายพันธุ์ ในขณะที่มาลาไทออน (malathion) มีความเสี่ยงต่อสิ่งมีชีวิต 1,284 สายพันธุ์ ส่วนไดอะซิน (diazinon) มีความเสี่ยงต่อสิ่งมีชีวิต 175 สายพันธุ์ สามารถสรุปได้ว่า “คลอร์ไพริฟอสและมาลาไทออน ยาฆ่าแมลงสองชนิดที่มีกลไกทางพิษวิทยาที่คล้ายกัน เป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง” ของนก ปลา พืชและสัตว์อื่นๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ผลการวิจัยของ FWS ไม่ได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะตามแผนที่จะปล่อยในเดือนพฤศจิกายน 2017 เนื่องจากถูกสกัดกั้นจากนาย Bernhardt 

สำหรับสารกำจัดแมลงศัตรูพืชคลอร์ไพริฟอสนั้น การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทางระบบประสาทของทารกและเด็กเล็ก และก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธที่จะแบนการใช้สารเคมีนี้ แม้จะมีหลักฐานที่เป็นอันตรายต่อเด็ก

 

ecowatch.com

มันน่าตกใจ แต่อาจจะไม่แปลกใจ New York Times ได้ออกมาเปิดเผยในเดือนมีนาคม 2019 ว่าทาง New York Times ได้รับเอกสารชุดหนึ่งผ่านทาง Freedom of Information Act ที่แสดงให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ที่ Fish and Wildlife Service (FWS) ได้เสร็จสิ้นการรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบว่า สารกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอสและมาลาไทออน มีความเสี่ยงต่อการดำรงอยู่ของสัตว์ป่าคุ้มครองมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ แต่ถูกนายเดวิด แบร์นฮาร์ด (David Bernhardt) ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายน 2017 และเข้ารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2017 เพื่อให้มาทำหน้าที่บล็อกรายงานของ FWS เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่รายงานนี้จะถูกปล่อยสู่สาธารณะในเดือนพฤศจิกายน 2017 ตามแผนที่วางไว้ และยังสั่งให้เปลี่ยนแนวทางการทำงานของหน่วยงานไปสู่กระบวนการสนับสนุนอุตสาหกรรมสารกำจัดศัตรูพืช โดย Bernhard สั่งให้นักวิทยาศาสตร์ของ FWS ทำการวิเคราะห์ซ้ำโดยใช้เทคนิคที่อุตสาหกรรมสารกำจัดศัตรูพืชได้ป้องกันไว้ก่อนหน้านี้

ก่อนการเข้าแทรกแซงการทำงานของนาย Bernhard นาย Patrice Ashfield หัวหน้าสาขาของ FWS เขียนว่า “ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ เลือด เหงื่อ และน้ำตา ของพวกเขาเพื่อให้รายงานเหล่านี้เสร็จสมบูรณ์ และพวกเขาก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม!”

หมายเหตุ : Bernhardt ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายน 2019

ส.ส Velázquez ของสภาคองเกรสกล่าวหลังจากที่ New York Times รายงานข่าวนี้ว่า  “อันตรายด้านสาธารณสุขของคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) นั้นได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมก่อนหน้านี้ฉันจึงได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อกำจัดสารพิษนี้ออกจากตลาด ตอนนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นพิเศษที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์พยายามปกปิดหรือชะลอการเปิดเผยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ chlorpyrifos, malathion และ diazinon ในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์”

ส.ส Jared Huffman กล่าวว่า “การแทรกแซงของ Bernhardt ที่ป้องกันไม่ให้มีการเปิดเผยรายงานเหล่านี้ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง ได้ทำลายงานของผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ประเมินผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อาจทำให้สัตว์นับไม่ถ้วนตกอยู่ในอันตราย การกระทำนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสนใจที่จะสร้างช่องโหว่เพื่อรักษาผลประโยชน์พิเศษของอุตสาหกรรมสารกำจัดศัตรูพืช โดยหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงต่อผลกระทบต่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม”

 

คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) เป็นยากำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่ใช้กันทั่วไป ระบบนิเวศทางน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่เกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกปนเปื้อนด้วยสารกำจัดศัตรูพืชพิษหลากหลายชนิดจากการไหลบ่าและชะล้างของน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ คลอร์ไพริฟอสเป็นพิษอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำโดยเฉพาะในปลาซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นการตรวจสอบผลกระทบของสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นพิษ เช่น คลอร์ไพริฟอส ต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำจึงมีความสำคัญมาก

รายงานใหม่ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตคุกคามต่อสุขภาพของสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาวาฬเพชรฆาตและปลาแซลมอน ตามรายงาน 3,700 หน้า ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2017 ที่นักวิจัยของสํานักงานบริการประมงทะเลแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Marine Fisheries Service; NMFS) ทำการประเมินสารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ malathion, diazinon และยาฆ่าแมลงที่มีการถกเถียงกันมาก chlorpyrifos เพื่อพิจารณาว่าสารกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้เป็นภัยคุกคามหรือไม่ต่อสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์หลายสิบชนิด รวมถึงปลาแซลมอนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ปลาสเตอร์เจียนในมหาสมุทรแอตแลนติก และปลาวาฬเพชฌฆาตหรือออร์กา

ตามรายงานความเห็นทางชีวภาพของนักวิจัย NMFS สรุปว่า chlorpyrifos และ malathion เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ 38 จากทั้งหมด 77 สายพันธุ์ที่อยู่ในรายการ และพบว่า diazinon มีความเสี่ยงต่อ 25 สายพันธุ์ และที่สำคัญสารกำจัดศัตรูพืชออร์กาโนฟอสเฟตเหล่านี้เป็นอันตรายคุกคามที่ยิ่งใหญ่ต่อปลาแซลมอนที่ใกล้สูญพันธุ์ในชายฝั่งทะเลตะวันตก และเป็นปัจจัยสำคัญในการลดจำนวนลงของพวกมัน รวมทั้งปลาวาฬเพชฌฆาตหรือออร์กาส์ประจำถิ่นใต้ก็มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน เพราะมันกินปลาแซลมอน

ในรายงานดังกล่าวยังได้ให้คำแนะนำอย่างละเอียดแก่สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐหรือ EPA สำหรับข้อจำกัดใหม่เกี่ยวกับวิธีการฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชและวิธีการที่จะช่วยจำกัดอันตราย แต่ EPA ก็ไม่ได้ตอบสนองต่อรายงานการศึกษาของรัฐบาลกลางฉบับใหม่นี้ 

สำนักข่าว AP รายงานครั้งแรกในเดือนเมษายน 2018 ว่า ทนายความที่เป็นตัวแทนของ Dow Chemicalz บริษัทผู้ผลิตหลักของสารคลอร์ไพริฟอส และบริษัทสารกำจัดแมลงอีกสองบริษัท ได้ส่งจดหมายไปยังเลขานุการคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าการศึกษาทางวิชาการมีข้อบกพร่อง แหล่งข่าวยังได้เปิดเผยว่า Dow Chemicals ได้เขียนเช็ค 1 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยในการจัดงานเปิดตัวของทรัมป์ และนาย Andrew Liveris ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท Dow Chemical ยังเป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านอุตสาหกรรมการผลิตของทำเนียบขาว

กลุ่มสิ่งแวดล้อม Earthjustice และสมาคมสหพันธ์ชาวประมงชายฝั่งแปซิฟิก ได้ต่อสู้ในศาลมานานหลายสิบปี เพื่อผลักดันให้รัฐบาลตรวจสอบสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตต่อความปลอดภัยของปลาแซลมอนที่ใกล้สูญพันธุ์ การฟ้องร้องที่ประสบความสำเร็จในปี 2002 ศาลแขวงสหรัฐในซีแอตเทิลสั่งให้ EPA ปรึกษากับ NMFS เพื่อระบุมาตรการถาวรที่จำเป็นในการปกป้องปลาแซลมอนจากสารกำจัดศัตรูพืช กรณีนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ กรณีที่มีการผลักดันเพื่อให้แน่ใจว่าปลาแซลมอนที่ใกล้สูญพันธุ์ในชายฝั่งตะวันตก มีความปลอดภัยจากสารกำจัดศัตรูพืชพิษตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ 

 

 

Harry Styles – Adore You

 

 

sciencenewsforstudents.org

ผลการศึกษาของ peer-reviewed ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอนามัยสิ่งแวดล้อมในปี 2019 สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช 85 ชนิด ที่ถูกห้ามหรือถูกแบนการใช้ในสหภาพยุโรป จีน หรือบราซิล ซึ่งภูมิภาคเหล่านี้เป็นผู้ใช้สารกำจัดศัตรูพืชชั้นนำของโลก

Lori Ann Burd ผู้อำนวยการด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพกล่าวว่า “ในที่สุดเราก็มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่ายาฆ่าแมลงเหล่านี้เลวร้ายเพียงใดต่อสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์” “EPA อนุญาตให้บริษัทอุตสาหกรรมเคมีลงทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากกว่า 16,000 รายการ ( ปัจจุบันมากกว่า 34,000 ชนิด) โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เหมาะสม EPA ควรหยุดได้แล้ว” Burd กล่าว “การประเมินเหล่านี้เป็นก้าวสำคัญของ EPA ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอันตรายของสารกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ก่อให้เกิดความชัดเจนว่าเราจำเป็นต้องดำเนินการเสียที”

Ken Cook ประธานคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Working Group; EWG) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร อุทิศตนเพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “เป็นสิ่งน่าสังเวชสำหรับเด็กชาวอเมริกันและพ่อแม่ของพวกเขา การบริหารของทรัมป์นั้นสนใจแต่ผลประโยชน์ของธุรกิจอุตสาหกรรมเคมี โดยปล่อยให้สารกำจัดศัตรูพืชอันตรายฉีดลงบนอาหารที่เด็กๆ กินทุกวัน”

 

 

The Chainsmokers – Sick Boy

 

 

สงครามคลอร์ไพริฟอสในสหรัฐอเมริกา

คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นหนึ่งในยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา คลอร์ไพริฟอสลงทะเบียนเพื่อใช้สหรัฐอเมริกาครั้งแรกในปี 1965 จากข้อมูลของ EPA มีการใช้คลอร์ไพริฟอสในสหรัฐอเมริกาประมาณ 10 ล้านปอนด์ต่อปี เกษตรกรใช้คลอร์ไพริฟอสเพื่อฆ่าแมลงศัตรูพืชในพืชผลทางการเกษตรหลากหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ส้ม อัลมอนด์ บรอคโคลี่ สตรอเบอร์รี่ ฝ้าย และข้าวสาลี เป็นต้น และคลอร์ไพริฟอสยังเป็นหนึ่งในยาฆ่าแมลงที่ใช้ในที่อยู่อาศัยมากที่สุด EPA สั่งห้ามการฉีดพ่นในบ้านเพื่อต่อสู้กับแมลงในบ้านเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว

เนื่องจากคลอร์ไพริฟอสใช้กับพืชอาหาร จึงต้องขึ้นทะเบียนภายใต้พระราชบัญญัติยาฆ่าแมลง, ยาฆ่าเชื้อราและยาเบื่อหนู ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Insecticide, Fungicide and Rodenticide Act; FIFRA) และหน่วยงานภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร, ยาและเครื่องสำอาง (FFDCA) ได้กำหนด “ค่าความทนทานที่รับได้ (tolerances) ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดของสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่อนุญาตให้อยู่ในสินค้าเกษตรดิบและอาหาร” หากสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างใดที่ถูกเพิกถอนค่า tolerances จะไม่สามารถจำหน่ายเพื่อการค้าในประเทศได้

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา EPA พยายามที่จะห้ามการใช้งานคลอร์ไพริฟอสในภาคเกษตร หลังการศึกษาจำนวนมากที่ระบุคลอร์ไพริฟอสมีการเชื่อมโยงกับความเสียหายของสมองในทารก เด็ก และคนงานเกษตร

การถกเถียงเรื่องคลอร์ไพริฟอสเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและสารพิษอื่นๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา สารกำจัดศัตรูพืชมากกว่า 34,000 ชนิดได้จดทะเบียนโดย EPA เพื่อใช้ในประเทศนี้ นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอีก 85,000 ชนิดที่ถูกควบคุมแยกต่างหากภายใต้พระราชบัญญัติการควบคุมสารพิษ (TSCA) ซึ่งการดำเนินงานของ EPA ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรพัฒนาเอกชน NGOs และนักวิจัยทางวิชาการหลายคนว่าหย่อนยานเกินไป  EPA ใช้พระราชบัญญัติยาฆ่าแมลง, ยาฆ่าเชื้อราและกำจัดหนู ของรัฐบาลกลาง (FIFRA) ในการสั่งแบนหรือจำกัดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ออกฤทธิ์เพียง 64 ชนิด ในระหว่างปี 1972 – 2007 ในขณะที่สารเคมีเพียง 5 ชนิดเท่านั้นที่ถูกแบนการใช้ภายใต้พระราชบัญญัติการควบคุมสารพิษ (TSCA) ตั้งแต่ปี 1976

มีสารเคมีจำนวนมากที่ต้องมีการควบคุมดูแล ทำให้นโยบายด้านสารเคมีเป็นปัญหาที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขาดมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ การตัดสินใจด้านกฎระเบียบหลายอย่างขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักประโยชน์ของการใช้สารกำจัดศัตรูพืชกับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น การแบนการใช้มักจะผ่านได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า ผู้บริโภคบางคนแก้ปัญหาด้วยการหันไปซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของตัวเองและครอบครัว อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาเป็นรายบุคคลดังกล่าว อาจเกิดขึ้นเฉพาะในวงจำกัดของประชากร และไม่สามารถป้องกันประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้

 

panna.org

2000

คลอไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นหนึ่งในยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่ถูกนำมาฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงในที่อยู่อาศัยมากที่สุดในสหรัฐฯ ผู้อยู่อาศัยมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการสัมผัสสารนี้ ในปี 2000 EPA ได้ประกาศสั่งห้ามการใช้คลอร์ไพริฟอสในอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัยรวมถึงโรงเรียนและศูนย์รับเลี้ยงเด็ก จากเหตุผลความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่เกษตรกรยังคงใช้อย่างแพร่หลายเพื่อฆ่าแมลงศัตรูพืชในผักผลไม้และธัญพืชกว่า 50 ชนิด

2007

ในปี 2007 EPA ได้รับคำร้องจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอเมริกาเหนือ (Pesticide Action Network North America; PANNA) และสภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Defense Council; NRDC) เพื่อขอให้เพิกถอน “ค่าความทนทานที่รับได้ (tolerances) ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดของสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่อนุญาตให้อยู่ในอาหาร” ของสารเคมีกำจัดแมลงคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่การแบนการใช้คลอร์ไพริฟอสในสหรัฐ

หมายเหตุ :

สภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Defense Council; NRDC) เป็นกลุ่มสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่ไม่หวังผลกำไร

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Pesticide Action Network; PAN) เป็น “พันธมิตรระหว่างประเทศประมาณ 600 องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มประชาชน และประชาชนใน 60 ประเทศทั่วโลก” ซึ่งต่อต้านการใช้ยาปราบศัตรูพืชและสนับสนุนสิ่งที่นำเสนอเป็นทางเลือกทางนิเวศวิทยาที่ดีกว่า

ก่อน 2013

ก่อนปี 2013 EPA ขอข้อมูลการศึกษาระบาดวิทยาจากศูนย์สุขภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์ก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารเคมีกำจัดแมลงคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ที่ใช้งานในภาคการเกษตร มีความสัมพันธ์กับปัญหาพัฒนาการทางระบบประสาทในทารกและเด็กเล็ก ซึ่ง EPA ใช้เป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังกฎที่เสนอในเดือนพฤศจิกายน 2015 เพื่อเพิกถอน “ค่าความทนทานที่รับได้ (tolerances) ของคลอร์ไพริฟอสในพืชอาหาร

2015

ในปี 2015 ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีบารัก โอบามา EPA ได้กำหนดกระบวนการในการเพิกถอนสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ออกจากตลาดตามคำแนะนำของคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของหน่วยงาน หลังจากพบว่าการสัมผัสกับคลอร์ไพริฟอส ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์และเด็ก โดย EPA เสนอกฎเพื่อเพิกถอน “ค่าความทนทานที่รับได้ (tolerances) ของคลอร์ไพริฟอสในพืชอาหาร ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะนำไปสู่การแบนการใช้คลอร์ไพริฟอสในสหรัฐฯ 

แต่ Dow AgroSciences ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Dow Chemical Company ได้โต้แย้งว่า EPA อาศัยการวิเคราะห์ที่มีข้อบกพร่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ EPA ให้น้ำหนักมากกับการศึกษาทางระบาดวิทยาที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเพียงการศึกษาเดียว และยังคงมั่นใจว่าการใช้งานผลิตภัณฑ์คลอร์ไพริฟอสมีความปลอดภัยของมนุษย์ และคลอร์ไพริฟอสเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ปลูกพืชมากกว่า 50 ชนิดในสหรัฐอเมริกา

กระทรวงเกษตรก็ได้หยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ของ EPA นำมาใช้ในการพิจารณาว่า คลอร์ไพริฟอสมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างรุนแรง

2016

ในปี 2016 EPA ได้ประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ เพื่อพิจารณาข้อเสนอแบนการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) อีกครั้ง ในที่สุด EPA ยังคงยืนยันการตัดสินใจที่จะแบนการใช้คลอร์ไพริฟอสอย่างสมบูรณ์ EPA สรุปว่ามีงานวิจัยจำนวนหนึ่งให้ “หลักฐานเพียงพอ” ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางระบบประสาทของเด็กๆ ที่ได้รับสารนี้แม้ในปริมาณน้อยขณะอยู่ในครรภ์มารดา การประเมินยังพบคลอร์ไพริฟอสตกค้างในพืชอาหารในปริมาณที่เกินมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด รวมทั้งการปนเปื้อนในน้ำดื่ม

แต่การเสนอแบนสารเคมีชนิดนี้ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ยังไม่ถูกบังคับใช้

2017

ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ในวันที่ 29 มีนาคม 2017 ก็อตต์ พรูอิท (Scott Pruitt) ผู้บริหารของ EPA ปฏิเสธการวิเคราะห์ของหน่วยงานของเขาเอง และออกคำสั่งย้อนกลับขั้นตอนของการตัดสินใจของ EPA ที่เคยเสนอให้แบนการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา โดย EPA ในสมัยประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ปฏิเสธคำร้องที่ขอให้เพิกถอน “ค่าความทนทานที่รับได้ (tolerances) ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดของสารกำจัดศัตรูพืชที่อนุญาตให้อยู่ในอาหาร” ของคลอร์ไพริฟอส เพื่อปฏิเสธการแบนคลอร์ไพริฟอส

พรูอิท อ้างถึงข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงคลอร์ไพริฟอสเข้ากับผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาทนั้นมีความไม่แน่นอน และเกษตรกรในฟาร์มอเมริกันหลายพันแห่งมีความจำเป็นต้องพึ่งพาคลอร์ไพริฟอส การตัดสินใจนี้จะปล่อยคลอร์ไพริฟอสออกสู่ตลาด จนกว่าจะมีการตรวจสอบการลงทะเบียนครั้งต่อไปซึ่งเป็นโปรแกรมที่ประเมินยาฆ่าแมลงทั้งหมดในรอบ 15 ปี สำหรับการประเมินความปลอดภัยของสารเคมีคลอร์ไพริฟอสครั้งใหม่ deadline ตามที่กฎหมายกำหนด คือ ปี 2022 ในการแถลงข่าวของพวกเขา EPA ยอมรับว่าการใช้งานในปัจจุบันของคลอร์ไพริฟอสนำไปสู่การตกค้างในอาหารและน้ำดื่มสูงกว่าระดับที่ปลอดภัย แต่พวกเขาเน้นว่าคลอร์ไพริฟอสเป็นเครื่องมือการจัดการศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้กันอย่างแพร่หลาย การห้ามคลอร์ไพริฟอสในสหรัฐอเมริกาจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรชาวอเมริกันและลูกค้าทางการเงิน

อย่างไรก็ตามจากรายงานของสำนักข่าวในอเมริกา พรูอิทและเจ้าหน้าที่ EPA คนอื่นๆ ได้พบกับตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีหลายสิบครั้งในช่วงสัปดาห์ก่อนการตัดสินใจเดือนมีนาคม และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2017 พรูอิทยังได้พบเป็นการส่วนตัวกับ แอนดรู ลิเวอร์ลิส (Andrew Liveris) CEO ของบริษัทดาว เคมิคอล (Dow Chemical) ซึ่งเป็นผู้ผลิตคลอร์ไพริฟอสรายใหญ่ ก่อนที่เขาจะออกคำสั่งกลับลำการแบนคลอร์ไพริฟอส และบริษัท Dow Chemical เคยบริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญแก่คณะกรรมการงานเฉลิมฉลองการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อปี 2016 

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเป็นอีเมลภายใน EPA ที่แสดงให้เห็นว่าการเมืองเข้าไปมีบทบาทต่อการตัดสินใจของ EPA ในการสั่งยกเลิกการแบนคลอร์ไพริฟอส โดยไรอันแจ็คสัน (Ryan Jackson) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของพรูอิท เขียนในอีเมลลงวันที่ 8 มีนาคม 2018 ว่า เขา “กลัว” การกระทบต่ออาชีพการงานที่มาพร้อมกับการตัดสินใจทางการเมืองที่จะปฏิเสธการแบนคลอร์ไพริฟอส

หมายเหตุ : พรูอิทได้รับการเสนอชื่อเป็นหัวหน้า EPA ในปี 2017 โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ แต่พรูอิทได้ลาออกในเดือนกรกฎาคมของปี 2018 จากเรื่องอื้อฉาวทางจริยธรรม (ไม่เกี่ยวข้องกับ chlorpyrifos)

การยื้อการแบนคลอร์ไพริฟอสของพรูอิท นั่นหมายความว่าคลอร์ไพริฟอสจะยังคงอยู่ในตลาดต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ทำให้เด็กที่กำลังพัฒนาหลายล้านคนต้องสัมผัสสารนี้อยู่ต่อไป หลังจากการกลับลำของ EPA อัยการจากห้ารัฐ ได้แก่ นิวยอร์ก วอชิงตัน แมริแลนด์ เวอร์มอนต์ แมสซาชูเซตส์ แคลิฟอร์เนีย และเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย ร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม  (NGOs) และเกษตรกร เข้าร่วมยื่นฟ้อง EPA ต่อศาลอุทธรณ์รอบที่ 9 สหรัฐฯ (Ninth Circuit Court of Appeals) เพื่อบังคับให้ EPA แบนการใช้คลอร์ไพริฟอส

Sen. Tom Udall (D-N.M.) ซึ่งเป็นหนึ่งในวุฒิสมาชิกมากกว่าหนึ่งโหลที่สนับสนุนการแบนการใช้คลอร์ไพริฟอส กล่าวในแถลงการณ์ว่า ” วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับคลอร์ไพริฟอสมีความชัดเจนและไม่คลุมเครือและไม่มีที่สำหรับสารนี้ในอาหารหรือในไร่ของเรา คำถามเดียวในตอนนี้คือ ฝ่ายบริหารของทรัมป์จะหยุดทำการประมูลกับบริษัทอุตสาหกรรมเคมีใหญ่ๆ หรือไม่ และเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กและเกษตรกรของเราเป็นอันดับแรก”

สถาบันการศึกษากุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics) ตอบสนองต่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร EPA ว่าพวกเขารู้สึก “ตื่นตระหนกอย่างยิ่ง” กับการตัดสินใจของพรูอิทเพื่อให้การใช้ยาฆ่าแมลงยังคงดำเนินต่อไปในสหรัฐฯ ถึงแม้นจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่งที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการได้รับคลอร์ไพริฟอสต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ เด็กทารกหลังคลอด และสตรีมีครรภ์

2018

ในเดือนสิงหาคม 2018 ศาลอุทธรณ์รอบที่ 9 สหรัฐฯ (Ninth Circuit Court of Appeals) สั่งให้ EPA แบนการใช้คลอร์ไพริฟอสในสหรัฐอเมริกาภายใน 60 วัน โดยศาลพบว่าการประเมินความเสี่ยงของ EPA ที่ทำไว้เมื่อปี 2015 และ 2016 ที่ระบุถึงผลกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาทในทารกและเด็ก นั้นเพียงพอที่จะให้หน่วยงานเพิกถอน “ค่าความทนทานที่รับได้ (tolerances) ของคลอร์ไพริฟอสในพืชอาหาร”

หนึ่งเดือนต่อมากระทรวงยุติธรรมได้เข้าแทรกแซง และขอให้ศาลทบทวนคำตัดสินใหม่ 

2019

ในเดือนเมษายน 2019 ศาลมีคำสั่งให้ EPA ทำการตัดสินใจว่า “จะแบนหรือไม่แบน” สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ภายใน 90 วัน

เดือนกรกฎาคม 2019 EPA ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ประกาศว่า “จะไม่แบนการใช้คลอร์ไพริฟอส”  โดยอ้างว่าวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงคลอร์ไพริฟอสกับปัญหาสุขภาพ เช่น ผลกระทบทางระบบประสาทในเด็ก และปัญหาระบบทางเดินหายใจในผู้ใหญ่ ยังไม่ได้รับการแก้ไขและต้องการศึกษาเพิ่มเติม

การตัดสินใจของ EPA ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะอีกครั้งหนึ่งของผู้ผลิตสารนี้ Corteva Agriscience (ชื่อเดิม Dow AgroSciences)

แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรไม่ยอมแพ้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเอิร์ธจัสทิซ (Earthjustice) ในฐานะตัวแทนของแรงงานเกษตรในฟาร์ม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อคัดค้านคำตัดสินของ EPA และคดียังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ในขณะเดียวกัน บางรัฐของสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายแบนการใช้ chlorpyrifos รัฐแรกคือฮาวาย ตามด้วยแคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก

2020

ในที่สุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 Corteva Agriscience ผู้ผลิตคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ได้ยกธงขาวประกาศว่าจะหยุดขายคลอร์ไพริฟอส สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชซึ่งเชื่อมโยงกับความเสียหายของสมองในทารกและเด็ก

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเอิร์ธจัสทิซ (Earthjustice) กล่าว “รัฐบาลจะต้องยืนหยัดและห้ามสารเคมีนี้ เพราะยังมีผู้ผลิตคลอร์ไพริฟอสและยาฆ่าแมลงรายอื่นที่ยังคงได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศ”

 

 

Brothers Osborne – It Ain’t My Fault

 

 

twitter.com

คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นสารเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชในผักและผลไม้ ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหภาพยุโรปครั้งแรกในปี 2006

จากข้อมูลปี 2016 ของสหภาพยุโรป จากการวิเคราะห์การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 791 ชนิด พบว่า คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ที่ทราบกันดีว่ามีผลต่อความเสียหายต่อการพัฒนาสมองของเด็กๆ เป็น 1 ใน 15 อันดับแรกของสารกำจัดศัตรูพืชที่พบเป็นสารตกค้างในอาหารและผลไม้ที่ผลิตและบริโภคในยุโรปมากที่สุด คลอร์ไพริฟอสมักถูกตรวจพบเป็นสารตกค้างมากที่สุดในผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม มะนาว เกรปฟรุ้ต นอกจากนี้ยังพบใน กล้วย แอปเปิ้ล ลูกแพร์ และลูกพีช เป็นต้น – ผลไม้เหล่านี้เป็นที่นิยมในหมู่เด็กทุกวัยประเทศในยุโรป การสัมผัสกับสารเคมีคลอร์ไพริฟอสเกิดขึ้นเมื่อจับหรือปอกเปลือกผลไม้ และการปนเปื้อนคลอร์ไพริฟอสในน้ำผลไม้

กฎที่แตกต่างกันในสหภาพยุโรป

การทำการตลาดในสหภาพยุโรป สารเคมีนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญโดยคณะกรรมาธิการซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประเทศสมาชิก 28 ประเทศ อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศสามารถตัดสินใจว่าจะอนุมัติการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีดังกล่าวภายในประเทศได้หรือไม่ คลอร์ไพริฟอสถูกห้ามการใช้ใน 8 ประเทศ คือ เยอรมนี ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก สโลวีเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ก่อนการแบนของสหภาพยุโรปเมื่อต้นปี 2020 

แต่ถึงกระนั้น ในประเทศที่ห้ามการใช้สารกำจัดแมลงศัตรูพืชคลอไพริฟอส ผู้บริโภคก็สามารถสัมผัสสารพิษนี้ผ่านทางสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดที่นำเข้าจากนอกประเทศ ยกตัวอย่างเช่น

ประเทศสวีเดนไม่เคยอนุญาตให้ใช้สารคลอร์ไพริฟอสในการเกษตร แต่ในปี 2013 นักวิจัยชาวสวีเดนรายงานการค้นพบคลอร์ไพริฟอสและยากำจัดศัตรูพืชอื่นๆ ในปัสสาวะจากผู้หญิงวัยกลางคนในกลุ่มที่บริโภคผักและผลไม้ปริมาณสูง 

ในปี 2016 การศึกษาของกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก พบสารคลอร์ไพริฟอสในปัสสาวะของเด็กในอัตรา 9 ใน 10 คน และของมารดา

รายงาน 2017 สารคลอร์ไพริฟอสถูกพบใน 20% ของตัวอย่างผลไม้ที่ถูกนำมาทดสอบในโรงเรียนในสหราชอาณาจักร แม้สารกำจัดแมลงศัตรูพืชชนิดนี้เกือบจะไม่มีการใช้งานที่ได้รับอนุญาตใน UK 

 

การแบนคลอร์ไพริฟอสในสหภาพยุโรป

การอนุญาตให้ใช้สารกำจัดศัตรูพืชในสหภาพยุโรปนั้น จะได้รับการประเมินใหม่เป็นระยะๆ ตามการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ การตัดสินใจที่จะต่ออายุใบอนุญาตขึ้นอยู่กับมติของผู้แทนจากประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป สำหรับการอนุญาตคลอร์ไพริฟอสในสหภาพยุโรปจะหมดอายุในวันที่ 31 มกราคม 2020 ประเทศสมาชิกที่รับผิดชอบการประเมินความปลอดภัยของสารกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้ อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการตรวจพบการปนเปื้อนของคลอร์ไพริฟอสในผลไม้มากที่สุด ได้แก่ สเปน โปแลนด์

นับตั้งแต่คลอร์ไพริฟอสได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหภาพยุโรปครั้งแรกในปี 2006 หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ที่ระบุความเป็นพิษของคลอร์ไพริฟอสที่สร้างผลกระทบต่อสมองของมนุษย์ก็ปรากฏขึ้น ในปี 2013 คณะกรรมาธิการของสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป (European Food Safety Authority; EFSA) ได้ทบทวนความเป็นพิษของคลอร์ไพริฟอสที่มีต่อมนุษย์ หลังจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) ค้นพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ที่แสดงความสัมพันธ์ของคลอร์ไพริฟอสกับปัญหาพัฒนาการทางระบบประสาทในทารกและเด็กเล็กแม้นได้รับในปริมาณน้อย อย่างไรก็ตามการใช้คลอร์ไพริฟอสในยุโรปยังไม่ถูกแบน

จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2019  องค์การความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ได้ออกรายงานสรุปว่า “ไม่สามารถกำหนดระดับการสัมผัสที่ปลอดภัยสำหรับสารคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) และไม่เข้าหลักเกณฑ์สำหรับการต่ออายุการใช้ในสหภาพยุโรปได้อีก”  รายงานระบุว่าคลอร์ไพริฟอสเป็นสารยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase ที่มีศักยภาพอย่างชัดเจนว่าสามารถดูดซึมได้โดยการกลืนกิน การสูดดม และผ่านผิวหนัง มีหลักฐานยืนยันทั้งในสัตว์ทดลองและข้อมูลระบาดวิทยาสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า มันเป็นสารพิษที่มีผลกระทบทางพันธุกรรม (genotoxic effects) ที่อาจเกิดขึ้น และเป็นพิษต่อระบบประสาท (neurological effects) ที่กำลังพัฒนาของทารกก่อนคลอดและเด็กเล็ก

EFSA ยังตีพิมพ์คำแถลงที่มีการปรับปรุงซึ่งยังคงข้อสรุปเดียวกันสำหรับ คลอร์ไพริฟอส-เมทิล (chlorpyrifos-methyl) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 จากความกังวลความเป็นพิษของสารนี้ต่อระบบประสาทของมนุษย์ 

คำประกาศของ EFSA ส่งผลให้ผู้แทนจากประเทศในสหภาพยุโรปลงมติในเดือนธันวาคม 2019 “ไม่ต่ออายุการลงทะเบียนของสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต คือ chlorpyrifos และ chlorpyrifos-methyl” ซึ่งใบอนุญาตจะหมดอายุในเดือนมกราคม 2020 เนื่องจากความกังวลต่อสุขภาพของมนุษย์ ตามที่ EFSA สรุปความคิดเห็นสองประการเกี่ยวกับผลกระทบของสาร chlorpyrifos และ chlorpyrifos-methyl ต่อสุขภาพของมนุษย์ ว่ามี “ศักยภาพ” ผลกระทบทางพันธุกรรม (เป็นอันตรายต่อ DNA ในเซลล์) และเป็นพิษต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของทารกก่อนคลอดและเด็กเล็ก นั่นหมายความว่า สารกำจัดแมลงศัตรูพืชทั้งสองชนิดนี้จะไม่สามารถใช้ได้ในสหภาพยุโรป (EU) อีกต่อไป

 

การแบนคลอร์ไพริฟอสในประเทศไทย

รัฐบาลอนุมัติการแบน 2 สารพิษ พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ 2563 เนื่องจากเป็นห่วงสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้และผู้บริโภค การแบนเป็นผลมาจากการศึกษาอย่างละเอียด และการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการสารอันตรายแห่งชาติ 

กรมวิชาการเกษตรหลายแห่งได้เตรียมสารที่ปลอดภัยไว้แล้วเพื่อทดแทนสารเคมีที่เป็นพิษเหล่านี้ รวมถึงทางเลือกธรรมชาติในการจัดการกับศัตรูพืช เพื่อลดผลกระทบจากการห้ามการใช้สองสารพิษนี้

เกษตรกรมีเวลา 90 วันในการส่งคืนสารเคมีให้กับผู้ขาย ส่วนผู้ขายต้องรับคืนจากผู้ซื้อ แล้วรวบรวมข้อมูลการครอบครองส่งให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรภายใน 120 วัน หลังจากกำหนดเส้นตาย บุคคลที่ครอบครองสารเคมีผิดกฎหมายทั้งสองนี้จะถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

Dierks Bentley – Living