Newsletter subscribe

Agriculture, พืชจีเอ็ม

พืชดัดแปลงพันธุกรรม (GM Crops)#1 จีเอ็มโอ, วิธีสร้างพืชจีเอ็ม, พื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มทั่วโลก, พืชจีเอ็มกับประเทศไทย

Posted: 01/04/2020 at 12:56   /   by   /   comments (0)

ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างโครโมโซม DNA และยีน (kintalk.org)

โครโมโซม (Chromosome)

– ตัวโครโมโซมสามารถย้อมสีติด มันอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ เป็นที่อยู่ของ “สารพันธุกรรมหรือ DNA” รวมถึง “หน่วยพันธุกรรมหรือยีน” (ซึ่งยีนอยู่ใน DNA อีกที) 
– ทำหน้าที่ควบคุมและถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆของสิ่งมีชีวิต 

ดีเอ็นเอ (DNA)

– สารพันธุกรรมที่อยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต มีโครงสร้างเป็นสายบิดเกลียวคล้ายบันไดเวียนขวา
– มีหน้าที่เก็บรหัสพันธุกรรมหรือลำดับเบส

ยีน (Gene)

– ช่วงใดช่วงหนึ่งของสาย DNA ยีนเป็นส่วนหนึ่งของ DNA หรือเป็นหน่วยพันธุกรรมที่บรรจุรหัสพันธุกรรมสำหรับสร้าง RNA และโปรตีน ซึ่งกำหนดลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน

–  ทำหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่ไปสู่ลูก ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา หรือความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ

 

สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms; GMOs)

สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (Genetically Modified Organism, GMOs) คือสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม เป็นผลผลิตในห้องปฏิบัติการจากการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ที่เกิดจากการตัดเอายีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเข้าไปในยีนของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติไม่เคยผสมพันธุ์กันได้ในธรรมชาติ ทำให้ได้สิ่งมีชีวิตใหม่ที่มีคุณลักษณะที่เป็นประโยชน์ตามที่ต้องการ เช่น ต้านทานต่อแมลงศัตรูพืช ต้านทานต่อโรคพืช ต้านทานต่อสารเคมีในยาปราบวัชพืช คงทนต่อสภาพแวดล้อม หรือเพิ่มสารโภชนาการบางชนิด เช่น วิตามิน 

จีเอ็มโอ (GMOs) แรกเป็นจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Microorganisms; GMM)  เป็นผลงานวิจัยในห้องปฏิบัติการเมื่อปี 1973 ของ เฮอร์เบิร์ต บอยเยอร์ (Herbert Boyer) และสแตนลีย์ โคเฮน (Stanley Cohen) พวกเขานำยีนจากแบคทีเรียที่มีความต้านทานต่อยาปฏิชีวนะกานามัยซิน (kanamycin) ใส่เข้าไปในพลาสมิด (plasmid) แล้วชักนำให้เชื้อแบคทีเรียตัวอื่นเข้ารวมพลาสมิด แบคทีเรียที่ประสบความสำเร็จในการรวมพลาสมิด ก็จะสามารถอยู่รอดเพราะมีความต้านทานต่อยาปฏิชีวนะกานามัยซิน 

ในเวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมมากขึ้น ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการแพทย์และด้านอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น การใช้จุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพื่อรักษาโรคเบาหวานในมนุษย์ การใช้จุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ในการย่อยสลายสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ตามธรรมชาติ มีการคาดการณ์ว่าจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมจะมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมอย่างสูงในอนาคต และจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่ำ และเป็นที่ยอมรับว่าไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่ในการปฏิบัติงานกับจุลินทรีย์เหล่านี้ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ

 

en.wikipedia.org

สำหรับสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified (GM) Animal) ตัวแรกของโลกคือ หนู ในปี 1974 นาย Rudolf Jaenisch สร้างหนูดัดแปลงพันธุกรรมโดยการนำ DNA แปลกปลอมเข้าสู่ตัวอ่อน อย่างไรก็ตามมันต้องใช้เวลาอีก 8 ปีก่อนที่จะมีการพัฒนาหนูดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมไปยังลูกหลานของพวกมัน

 

slideshare.net

สำหรับสัตว์ GM ที่ถูกสร้างเพือการค้าครั้งแรกคือ ปลาม้าลายเรืองแสง (GloFish) ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง ออกจำหน่ายครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2003 ถูกสร้างโดยการนำยีนจากแมงกระพรุนหรือดอกไม้ทะเลชนิดพิเศษใส่ใน DNA ของปลาม้าลาย ซึ่งทำให้สามารถเรืองแสงได้ 

 

businessinsider.com

ส่วนสัตว์ GM ชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นอาหารได้ในปี 2015 คือปลาแซลมอนจีเอ็มที่บริษัทเอกชนในสหรัฐฯพัฒนาขึ้น มีชื่อว่า AquAdvantage salmon ซึ่งถูกเปลี่ยนยีนควบคุมฮอร์โมนการเจริญเติบโต  ทำให้มันเติบโตเร็วเป็นสองเท่าของปลาแซลมอนทั่วไปแต่คุณค่าทางอาหารไม่แตกต่าง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (Food and Drug Administration : FDA) รับรองความปลอดภัยสำหรับการนำมาบริโภคเป็นอาหาร 

 

hellystar.com

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 แวดวงวิทยาศาสตร์ทั่วโลกตกตะลึงเมื่อศาสตราจารย์เฮ่อ เจี้ยนขุย นักวิทยาศาสตร์ของจีนประกาศทางวีดิโอว่า เขาและทีมวิจัยได้สร้างทารกฝาแฝดหญิงชาวจีน “ลู่ลู่” และ “น่าน่า” ที่ได้รับการตัดต่อยีนคู่แรกของโลก เพื่อให้มีภูมิต้านทานเชื้อเอชไอวีแต่แรกเกิด โดยใช้เทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมที่เรียกว่า Crispr-Cas9 ซึ่งเขาทำใจแล้วว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องนี้ แต่เขาเชื่อว่าครอบครัวต้องการเทคโนโลยีนี้

หลังการประกาศ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์และนักจริยธรรมทางชีวภาพจากทั้งในจีนและทั่วโลกได้ร่วมกันประณาม ศาสตราจารย์เฮ่อ เจี้ยนขุย อย่างกว้างขวางว่า การกระทำนี้ส่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกฝาแฝดทั้งสองจากผลข้างเคียงที่เกิดจากการตัดต่อยีน เป็นความประมาญทางอาญาและละเมิดหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ผลจากการกระทำของศาสตราจารย์เฮ่อ เจี้ยนขุย เจ้าหน้าที่จีนได้ระงับกิจกรรมการวิจัยทั้งหมดของเขา เขาถูกควบคุมตัวทันทีและอยู่ภายใต้การดูแล และเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2019 ทางการจีนประกาศว่าเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในการปลอมแปลงเอกสาร และการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณ เขาถูกตัดสินให้ติดคุก 3 ปีและปรับเป็นเงิน 3 ล้านหยวน (ประมาณ 14 ล้านบาท) 

ผลมาจากการสร้างทารกฝาแฝดตัดต่อยีนคู่แรกของโลกที่ผิดกฎหมายนี้ ทำให้องค์การอนามัยโลกเปิดตัวฐานข้อมูลส่วนกลางระดับโลกในปี 2019 เพื่อติดตามการวิจัยที่เกี่ยวกับการแก้ไขจีโนมของมนุษย์ หลังจากมีการเรียกร้องให้หยุดการแก้ไขจีโนมทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม 2019

สำหรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม (Genetically Modified Crops; GM Crops) เป็น GMO ที่นิยมทำกันมากที่สุด เพราะพืชมีความสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์มากที่สุด โดยพืชจีเอ็มถูกสร้างขึ้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ทั้งทางด้านความต้านทานต่อศัตรูพืช ความต้านทานต่อสารเคมีกำจัดวัชพืช การเพิ่มปริมาณผลผลิตให้มากขึ้น การเพิ่มคุณค่าทางอาหาร  เป็นต้น

 

 

Sam Smith – How Do You Sleep?

 

 

พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม (Genetically Modified Crops; GM Crops)

พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม (GM crops) คือพืชที่ได้รับการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรมด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) ในห้องทดลอง โดยใช้เทคนิคการตัดต่อยีนเพื่อสร้างพืชชนิดใหม่ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นเองจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ เพื่อให้มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะเฉพาะเจาะจงตามที่ต้องการ เช่น มีความต้านทานต่อแมลงศัตรูพืชและโรคพืช มีความต้านทานต่อสารเคมีกำจัดวัชพืช คงทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนสารโภชนาการหรือชีวโมเลกุลบางชนิด เช่น วิตามิน โปรตีน ไขมัน เป็นต้น พืชดัดแปลงพันธุกรรมถือเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (GMOs – Genetically Modified Organisms) 

พืชจีเอ็มโอที่มีขายในท้องตลาดในปัจจุบัน ได้แก่ ถั่วเหลือง – ข้าวโพด – มันฝรั่ง – มะเขือเทศ – คาโนล่า – มะละกอ – ฝ้าย

 

วิธีสร้างพืชดัดแปลงพันธุกรรม

กระบวนการสร้างพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม (GM Crops) ทำได้ด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรม โดยการนำยีนที่ต้องการไปใส่ในพืช วิธีที่มีการใช้มากที่สุดมี 2 วิธีคือ

 

วิธีที่ 1 ใช้แบคทีเรีย Agrobacterium tumefaciens

มีไวรัสและแบคทีเรียจำนวนมากที่ถ่ายโอน DNA ของพวกมันไปยังเซลล์ของเหยื่อ (มนุษย์ หรือสัตว์ต่างๆที่มันเข้าไปสิง) กล่าวได้ว่าไวรัสและแบคทีเรียเหล่านี้แพร่พันธุ์โดยการฝังตัวเข้าไปใน host cell 

แบคทีเรียที่นิยมใช้ในการถ่ายโอนยีนในการสร้างพืชจีเอ็ม (GM crops) คือแบคทีเรียสายพันธุ์ Agrobacterium tumefaciens นักวิจัยจะนำยีนที่ต้องการใส่เข้าไปในแบคทีเรีย จากนั้นนำแบคทีเรียไปถ่ายโอน DNA ใหม่เข้าไปในจีโนมของเซลล์พืช เซลล์พืชหลังจากได้รับ DNA นี้จะเจริญเติบโตเป็นพืชพันธุ์ใหม่ 

 

plantcellbiology.masters.grkraj.org

โครงสร้างเซลล์แบคทีเรีย Agrobacterium tumefaciens มี 2 ส่วนคือ

1. โครโมโซม เป็นโมเลกุล DNA มีลักษณะเป็นเส้นเดียว ขดเป็นวงกลม

2. พลาสมิด เป็นโมเลกุล DNA รูปวงแหวนอยู่นอกโครโมโซม สามารถจำลองตัวเองได้และถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม สำหรับพลาสมิดของแบคทีเรีย Agrobacterium tumefaciens คือ Tumor inducer plasmid (Ti plasmid) 

T-DNA  เป็นส่วนประกอบเพียง 10% ของ Ti plasmid หาก T-DNA ของแบคทีเรียสายพันธุ์ Agrobacterium tumefaciens เข้าไปรวมกับโครโมโซมของพืช จะทำให้พืชมีการเจริญเติบโตเร็วผิดปรกติ ทำให้เกิดเนื้องอกเป็นปุ่มปมในพืชที่เรียก crown gall 

 

กลไกการถ่าย T-DNA เข้าสู่พืช

sphweb.bumc.bu.edu

1) นำ Ti plasmid ออกจากจีโนมของ Agrobacterium tumefaciens

2) ใส่ดีเอ็นเอที่มียีนที่ต้องการเข้าไปตรงบริเวณ T-DNA ที่ต้องการแทรกใน Ti plasmid  เกิดขบวนการรวมตัวของ DNA ที่เรียก “DNA Recombination Technique” ได้เป็น Ti plasmid ที่มี DNA ลูกผสม

3) นำ Ti plasmid ที่มี DNA ลูกผสมใส่กลับเข้าไปในแบคทีเรีย

4) นำเซลล์แบคทีเรียไปเลี้ยงกับเซลล์พืช ยีนที่ต้องการจะสามารถแทรกเข้าไปในโครโมโซมของพืช ส่งผลให้เกิดเอ็มบริโอพืชที่ดัดแปลงพันธุกรรม (genetically modified plant embryo) ที่ต้องการออกมา

 

วิธีที่ 2 การใช้เครื่องยิงอนุภาค (Particle bombardment หรือ biolistic gun)

ภาพแสดงการถ่ายโอนยีนเข้าสู่เซลล์พืชโดยใช้ Gene Gun 

ภาพแสดง Standard Gene Gun (nepad-abne.net)

 

 

ภาพแสดง Helios Gene Gun  (sites.google.com)

Biobiolistic gun หรือ Gene gun เป็นอุปกรณ์เทียบได้กับปืน ทำโดยยิงกระสุนเป็นโลหะหนัก เช่น เงิน ทอง ที่เคลือบด้วยพลาสมิด (plasmid) ที่มี DNA ที่ต้องการเข้าไปในเซลล์พืช DNA เหล่านี้จะหลุดออกจากอนุภาคโลหะเข้าไปเชื่อมต่อหรือสอดแทรกเข้าไปในดีเอ็นเอของพืชที่เป็นตัวรับยีนเหล่านั้น 

 

 

Sam Smith, Normani – Dancing With A Stranger

 

 

ประเทศหลักที่ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GM Crops)

แผนที่แสดงประเทศที่ปลูกและนำเข้าพืชจีเอ็ม (สีเขียว) และประเทศที่นำเข้าพืชจีเอ็ม (สีส้ม) จากข้อมูลปี 2016 ของ ISAAA 

ในปี 1983 พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม (Genetically Modified Crops; GM Crops) ชนิดแรกของโลกคือ ยาสูบ (tobacco) ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้ทนต่อสารกำจัดวัชพืช  ในปี 1994 มะเขือเทศพันธุ์ Flavr-Savr (มะเขือเทศสุกช้า) ผลิตโดยบริษัท Calgene ซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้ชะลอการสุกหลังจากเก็บเกี่ยว ถือเป็นพืชจีเอ็มแรกของโลกที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสำหรับการตลาดในสหรัฐอเมริกาให้จำหน่ายในเชิงพาณิชย์เพื่อการบริโภคในประเทศ

ถึงแม้นว่าจะมีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในปี 1994 (มะเขือเทศ) แต่ปี 1996 เป็นปีที่มีการอนุมัติให้ปลูกพืชจีเอ็มเชิงพาณิชย์ได้ถึง 8 ชนิดในพื้นที่ปลูก 1.66 ล้านเฮกเตอร์ ตั้งแต่นั้นมามีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมและในปี 2018 พื้นที่ปลูกทั่วโลกถึงกว่า 191.7 ล้านเฮกตาร์

isaaa.org

นับตั้งแต่มีการผลิตพืชเทคโนชีวภาพหรือพืชจีเอ็ม (Biotech Crops หรือ GM Crops) ในเชิงพาณิชย์จนถึงปัจจุบัน มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มทั่วโลก จากรายงานปี 2018 ขององค์การไอซ่า (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Applications; ISAAA) พื้นที่ปลูกพืชเทคโนชีวภาพทั่วโลกเพิ่มขึ้น 113 เท่าจาก 1.7 ล้านเฮกตาร์ (10.6 ล้านไร่) ในปี 1996 เป็น 191.7 ล้านเฮกตาร์ (1,200 ล้านไร่) ในปี 2018 คิดเป็น 12% ของพื้นที่ปลูกพืขทั่วโลก ดังนั้นพืชเทคโนโลยีชีวภาพถือว่าเป็นเทคโนโลยีการปลูกพืชที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของการเกษตรสมัยใหม่

ในปี 2018 มี 26 ประเทศที่ปลูกและนำเข้าพืชจีเอ็ม (ประเทศกำลังพัฒนา 21 ประเทศ และประเทศอุตสาหกรรม 5 ประเทศ) และมี 44 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่นำเข้าพืชจีเอ็ม  

 

cban.canadian.biotechnology.action.network

จากรายงานปี 2016 ของ ISAAA ห้าประเทศผู้นำในการผลิตพืชจีเอ็ม (GM Crops) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา อินเดีย และแคนาดา โดยมีพื้นที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มรวมกันคิดเป็น 92% ส่วนที่เหลืออีก 8% เป็นประเทศที่ปลูกพืชจีเอ็มรายย่อยได้แก่ จีน แอฟริกาใต้ ปารากัว ปากีสถาน อุรุกวัย และอื่นๆ

 

isaaa.org

ร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มทั้งโลกอยู่ใน 5 ประเทศเท่านั้น และส่วนใหญ่ของพืชจีเอ็มเหล่านี้เป็นพืชเพียง 2 ชนิดเท่านั้น หนึ่งคือพืชที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานยากำจัดวัชพืช (Herbicide tolerance GM crops) และสองคือพืชที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานต่อแมลง (Insect resistant GM crops) 

พืชเทคโนโลยีชีวภาพหรือพืชจีเอ็มที่ปลูกมากที่สุดคือ ถั่วเหลือง (soybean) ฝ้าย (cotton) ข้าวโพด (corn หรือ maize) และคาโนลา (canola)

หมายเหตุ: ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเรียกข้าวโพดว่า maize แต่ในยุโรปเรียกธัญพืชที่ปลูกเป็นพืชอาหารหลักว่า corn

 

 

พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม (Genetically Modified Crops; GM Crops) จําเป็นต้องผ่านการประเมินว่ามีความปลอดภัย จึงจะได้รับอนุญาตให้ดําเนินการทดสอบในขั้นตอนที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงมีเพียงพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ปลอดภัยแล้วเท่านั้นที่ได้รับการอนุญาตให้ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในรายชื่อของประเทศที่ผลิตพืชดัดแปลงพันธุกรรม แม้นว่าจะมีการรับรองพืชดัดแปลงพันธุกรรม 19 ชนิดในสหรัฐอเมริกา แต่มีเพียง 10 สายพันธุ์ได้รับการอนุมัติให้ปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ ได้แก่ ฝ้าย ซูการ์บีท ถั่วเหลือง ข้าวโพด คาโนลา มะละกอ ถั่วอัลฟัลฟ่า ซัมเมอร์สควอช มะเขือเทศ และแอปเปิ้ล

พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ปลูกมากในสหรัฐอเมริกามี 4 ชนิดคือ ถั่วเหลือง คาโนลา ฝ้าย และข้าวโพด

คาโนลาที่เมล็ดสามารถผลิตน้ำมันได้ (First GM Canola; 1995) และถั่วเหลือง (First GM Soybean; 1996) ถูกดัดแปลงพันธุกรรมครั้งแรกโดยบริษัทมอนซานโต (Monsanto) เพื่อให้เป็นพืชจีเอ็มที่ต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต ปัจจุบันคาโนลา ถั่วเหลือง ที่ปลูกในสหรัฐอเมริกาเกือบจะทั้งหมดเป็นพืชจีเอ็ม

โบลเวิร์มเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของต้นฝ้ายทั่วโลก ตัวอ่อนของแมลงชนิดนี้กินใบฝ้ายเป็นอาหาร ในปี 2019 พื้นที่เพาะปลูกฝ้ายของสหรัฐอเมริการ้อยละ 92 ปลูกด้วยต้นฝ้ายที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้ต้านทานต่อแมลงโดยบริษัท Monsanto โดยใส่ยีนจากแบคทีเรีย Bt ที่อยู่ในดิน (Bacillus thuringiensis) เข้าไปในโครโมโซมของต้นฝ้าย ทำให้ต้นฝ้ายสามารถผลิตโปรตีน Bt ซึ่งเป็นสารฆ่าหนอนที่เป็นศัตรูฝ้าย ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมนี้มีชื่อว่า ฝ้ายบีที (Bt cotton)

ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้านทานต่อสารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต มีการปลูกเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในปี 1996 โดยบริษัท Monsanto ในปี 2019 สหรัฐอเมริกามีการปลูกข้าวโพดบีที (Bt corn) ซึ่งเป็นข้าวโพดที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้ต้านทานต่อแมลงศัตรูพืช มากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งประเทศ เพื่อการผลิตเป็นอาหารสัตว์และเชื้อเพลิงชีวภาพ 

 

 

Luke Bryan – Crash My Party

 

 

พืชจีเอ็มกับประเทศไทย

ประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่เป็นจีเอ็มโอ (GMOs) ในเชิงพาณิชย์ แต่อนุญาตให้นําเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ ทั้งนี้ประเทศไทยนำเข้าถั่วเหลืองเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไทยผลิตถั่วเหลืองได้เพียง 2% ของความต้องการใช้ถั่วเหลืองทั้งหมด

ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศเพื่อสกัดเป็นน้ำมัน แปรรูปเป็นอาหาร และกากถั่วเหลืองเพื่อเป็นอาหารสัตว์ 2-3 ล้านตันต่อปี เพราะประเทศไทยสามารถผลิตได้เพียง 5-6 หมื่นตันต่อปีเท่านั้น ปัจจุบันพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทยมีเพียง 2 แสนไร่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตถั่วเหลืองในประเทศสูง ต้องใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืชและการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้ราคาถั่วเหลืองในประเทศสูงกว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าจากต่างประเทศ จากข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ 2563 ราคาถั่วเหลืองในประเทศเฉลี่ยกิโลกรัมละ 15.80 บาท ขณะที่ราคาถั่วเหลืองในตลาดต่างประเทศเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10.34 บาท เอกชนจึงหันไปนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตที่ราคาถูกกว่าคือ สหรัฐ อาร์เจนตินา และบราซิล ซึ่งเป็นถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมทั้งสิ้น

ในส่วนของงานวิจัยและพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมภายในประเทศนั้น ไทยไม่อนุญาตให้ทำการทดลองปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในพื้นที่การเกษตรใดๆ