Agriculture, พืชจีเอ็ม
พืชดัดแปลงพันธุกรรม (GM Crops)#4 ข้าวสีทอง ตอนที่ 3 ข้าวสีทองดีเบต
ข้าวสีทอง (Golden Rice) เป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่อุดมด้วยเบต้าแคโรทีนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการขาดวิตามินเอ (Vitamin A Deficiency; VAD) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพในพื้นที่ที่ยากจนมาก ข้าวสีทองเกิดจากความคิดที่ว่าเทคโนโลยีชีวภาพสามารถแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร ความอดอยาก และความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา
Golden Rice มีชื่อตามสีทองซึ่งเกิดจากเบต้าแคโรทีน (β-carotene) ข้าวปกติไม่แสดงเบต้าแคโรทีนในเอนโดสเปิร์มซึ่งเป็นส่วนที่มีแป้งและใหญ่ที่สุดของเมล็ดข้าวซึ่งโดยปกติจะมีสีขาวนวล เบต้าแคโรทีนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโมเลกุลที่เรียกว่าแคโรทีนอยด์ (carotenoid) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายร้อยชนิดที่พืชสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติและมีสีเหลืองส้ม แคโรทีนอยด์เป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เนื่องจากเป็นสารตั้งต้นของโมเลกุลที่จำเป็นในการเผาผลาญ ร่างกายมนุษย์เปลี่ยนเบต้าแคโรทีนหรือที่เรียกว่าโปรวิตามินเอ (pro-vitamin A) ให้กลายเป็นวิตามินเอ เมื่อผู้คนไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน เนื่องจากพวกเขากินพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นส่วนใหญ่ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี หรือข้าวฟ่าง พวกเขาจะเสี่ยงต่อการตาบอดและเป็นโรค
พัฒนาการของข้าวสีทองเกิดจากความชุกของการขาดวิตามินเอ (VAD) ในเด็กทั่วโลก ในฟิลิปปินส์เพียงประเทศเดียวเด็กประมาณ 2.1 ล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากการขาดวิตามินเอตามรายงานของ Ocampo ในปี 2017 ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความยากจนในประเทศ แม้ว่าจะมีการแทรกแซงหลายอย่างเช่น โปรแกรมการเลี้ยงลูกด้วยนม การเสริมวิตามินเอ และการเสริมอาหาร อย่างไรก็ตามการแทรกแซงเหล่านี้ไม่เพียงพอในการต่อสู้กับการขาดวิตามินเอ
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผู้สร้างและผู้เสนอข้าวสีทองได้เน้นย้ำโครงการข้าวสีทอง “Golden Rice Project” อย่างต่อเนื่องว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรเทา VAD ที่แพร่หลายซึ่งเป็นปัญหาในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เนื่องจากเด็กจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจาก VAD ในประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาข้าวเป็นอาหารหลัก การดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ข้าวผลิตเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ จึงถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ง่ายและราคาไม่แพงสำหรับการเสริมวิตามินอย่างต่อเนื่อง
ต้นแบบข้าวสีทอง Golden Rice 1 หรือ GR1 ได้รับการพัฒนาในปี 1990 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรป Ingo Potrykus และ Peter Beyer โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงจากองค์กรและได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้น Potrykus ปรากฏตัวบนหน้าปกของนิตยสารไทม์ในปี 2000 พร้อมกับพาดหัวข่าวว่า “ข้าวนี้ช่วยชีวิตเด็กๆ ได้ปีละล้านคน” อย่างไรก็ตามต้นแบบไม่มีเบต้าแคโรทีนในระดับสูงเพียงพอที่จะเป็นแหล่งวิตามินเอที่มีประสิทธิภาพ ด้วยความตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงการค้นพบครั้งใหม่ของพวกเขา ผู้ประดิษฐุ์ข้าวสีทองทั้งสองคนจึงอนุญาตให้บริษัทการเกษตรระดับโลกซินเจนทา (Syngenta) ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของตน โดยมีเงื่อนไขว่าจะให้เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา “ฟรี”
ในปี 2002 งานวิจัยของข้าวสีทองได้ย้ายไปที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ในฟิลิปปินส์เพื่อพัฒนาสำหรับเกษตรกรชาวฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทซินเจนทาซึ่งได้รับสิทธิทางการค้าในข้าวสีทอง ก็เริ่มพัฒนาชุดยีนใหม่เพื่อปรับปรุงระดับเบต้าแคโรทีน บริษัทซินเจนทาได้พัฒนาพันธุ์ข้าวสีทอง Golden Rice 2 หรือ GR2 ที่ได้รับการปรับปรุงโดยมีเบต้าแคโรทีนในระดับที่สูงขึ้นมากในปี 2005 และตัดสินใจที่จะไม่ทำการค้าในโลกที่พัฒนาแล้วเนื่องจากไม่มีตลาดสำหรับมัน ซินเจนทายังคงให้การสนับสนุนโครงการข้าวสีทองด้วยคำแนะนำและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่มีการควบคุมในเชิงพาณิชย์
ข้าวสีทองซึ่งปัจจุบันได้รับการพัฒนาโดย IRRI นั้นคล้ายคลึงกับข้าวชนิดอื่นๆ ยกเว้นว่ามียีนอีกสองยีนที่ถูกเพิ่มเข้าไปในดีเอ็นเอ ยีนหนึ่งมาจากข้าวโพดในขณะที่อีกยีนหนึ่งถูกนำมาจากแบคทีเรียในดิน ยีนทั้งสองนี้กระตุ้นวิถีการเผาผลาญแคโรทีนอยด์ของข้าวซึ่งผลิตเบต้าแคโรทีนในเอนโดสเปิร์มของเมล็ดข้าว เบต้าแคโรทีนเมื่อถูกร่างกายดูดซึมจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ดังนั้นการเพิ่มปริมาณวิตามินเอในข้าวจะช่วยบรรเทาการขาดวิตามินเอโดยเฉพาะในเด็กทั่วโลก แม้ว่าข้าวสีทองจะไม่สามารถแก้ปัญหา VAD ของประชากรได้ทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการลดการขาดวิตามินเอได้ในระดับหนึ่ง
ข้าวสีทองไม่ใช่ข้าวพันธุ์เดียว ลักษณะทางโภชนาการที่แทรกอยู่ในต้นข้าวโดยใช้พันธุวิศวกรรม ได้ถูกผสมข้ามพันธุ์กับข้าวในท้องถิ่นหลายสายพันธุ์ ผ่านการปรับปรุงพันธุ์แบบเดิม ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรในฟิลิปปินส์บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม สามารถรักษาข้อดีของสายพันธุ์ที่พวกเขาได้รับการปรับปรุงด้วยวิธีการแบบเดิมและการรับประทานอาหารมาหลายปี
Tiësto – The Business (YouTube)
ข้าวทองดีเบต
source.wustl.edu
ข้าวสีทอง (Golden Rice) เป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม (Genetically modified (GM) crop) ที่สามารถช่วยป้องกันการตาบอดในวัยเด็กและการเสียชีวิตในประเทศกำลังพัฒนา นับตั้งแต่ข้าวสีทองเป็นข่าวพาดหัวครั้งแรกเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในการถกเถียงเรื่องพืชจีเอ็ม ผู้สนับสนุนข้าวสีทองยกย่องให้เป็นตัวอย่างของผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษยชาติ ในขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอ (GMOs) ได้เรียกพืชอาหารดัดแปลงพันธุกรรมว่า “อาหารแฟรงเกนสไตน์”
เมื่อมีการประกาศโครงการข้าวสีทอง (Golden Rice Project) เป็นครั้งแรก มีการโฆษณาว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอ (VAD) ที่แพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตามการต่อต้าน GMOs ก่อตัวขึ้นเพื่อขัดขวางการขยายโครงการ ผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนได้โต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแนวทางที่มีความเสี่ยงและไม่จำเป็นในการปรับปรุงสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา องค์กรต่างๆ เช่น Friends of the Earth (เครือข่ายระหว่างประเทศขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมใน 74 ประเทศ), MASIPAG (เครือข่ายองค์กรที่นำโดยชาวนาในฟิลิปปินส์), FoodWatch (องค์กรด้านสิทธิผู้บริโภคที่ตั้งอยู่ในยุโรปที่ตรวจสอบปัญหาคุณภาพอาหาร) และกรีนพีซ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องในความพยายามหยุดโครงการข้าวสีทอง
นักวิจารณ์กล่าวว่า พวกเขาไม่เชื่อว่าข้าวสีทองจะสามารถแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอได้ พวกเขากล่าวว่าข้าวเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ที่จัดทำโดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ต้องการหยั่งรากในประเทศกำลังพัฒนาภายใต้ข้ออ้างเรื่องความเมตตากรุณา
Gwen Stefani – The Sweet Escape (YouTube)
แม้ข้าวสีทองจะผ่านการพัฒนามาเกือบสามทศวรรษ ข้าวสีทองก็ยังไม่มีวางจำหน่าย เกิดอะไรขึ้น?
ข้าวสีทอง (Golden Rice) ยังไม่บรรลุตามคำมั่นสัญญาในการแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอ (VAD) ในประชากรของประเทศที่ยากจน เนื่องจากข้าวสีทองเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม (GM Crops) จะใช้เวลานานกว่าพืชทั่วไปในการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการแรก ความรู้ทางพันธุวิศวกรรมที่ใช้กับการปรับปรุงพันธุ์พืชได้ปะทุขึ้นในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา และเทคนิคการแนะนำยีนจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่ง ทำให้พืชพันธุ์ใหม่ไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการปรับปรุงพันธุ์พืชที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ พันธุวิศวกรรมพืชเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่และซับซ้อน ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาและเงินเป็นจำนวนมาก
ประการที่สอง การวิจัยและการพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็มในประเทศส่วนใหญ่ อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ซับซ้อนในระดับชาติและระดับนานาชาติที่เกิดจาก “พิธีสารการ์ตาเฮนา (Cartagena)” ของสหประชาชาติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ควบคุมการจัดการขนส่งและการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือ GMOs อย่างปลอดภัย ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2013 โดยมี 167 ประเทศลงนาม (สหรัฐอเมริกาและแคนาดาไม่ได้ลงนาม) พิธีสารการ์ตาเฮนาได้รับการพัฒนาขึ้นจากความกังวลว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนำเสนอความเสี่ยงที่ผิดปกติต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามพิธีสารการ์ตาเฮนาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดอุปสรรคด้านกฎระเบียบที่สำคัญต่อการพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งมีผลผูกพันตามกฎหมายกับทุกประเทศที่ลงนาม และควบคุมการวิจัยพัฒนาและการทดสอบภาคสนามเกือบทุกด้านของ GMOs ตัวอย่างเช่น หากใครก็ตามที่ต้องการทำการทดลองภาคสนามของพืชดัดแปลงพันธุกรรม จะต้องรวบรวมเอกสารทางเทคนิคที่จัดเตรียมชุดข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับพืชในระดับโมเลกุลว่า มีการแก้ไขอย่างไร โดยมีลำดับพันธุกรรมอะไร และที่มาของพวกเขา
ทุกประเทศที่อนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการควบคุมการใช้งาน และต้องมีการทดสอบจำนวนมาก รวมถึงการทดลองภาคสนามซึ่งใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายมาก การปลูกพืชทั่วไปไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดเหล่านี้ ระยะเวลาเฉลี่ยที่พืชเทคโนโลยีชีวภาพชนิดใหม่จะออกสู่ตลาด คือ 13 ปี ตามการสำรวจของอุตสาหกรรมในปี 2011 ข้าวสีทอง “Golden Rice 2E (GR2E)” เพิ่งได้รับการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับการบริโภคของมนุษย์และสัตว์โดยหน่วยงานกำกับดูแลในฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดอนุมัติข้าวสำหรับการเพาะปลูกและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
กฎระเบียบระหว่างประเทศที่เข้มงวดได้รับการตำหนิจากนักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทำให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติพืชอาหารดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถช่วยรักษาชีวิตคนนับล้านในศตวรรษนี้ได้ Ingo Potrykus ผู้ร่วมคิดค้นข้าวสีทองร่วมกับ Peter Beyer ได้ประเมินว่าการปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐบาลเกี่ยวกับการตัดแต่งพันธุกรรมอันเป็นผลมาจากพิธีสาร Cartagena และหลักการป้องกัน ทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาข้าวสีทองขั้นสุดท้ายถึง 10 ปี
ในมุมมองของ Potrykus กล่าวว่า กฎระเบียบที่เข้มงวดในการกำกับดูแลพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering; GE) เป็นอุปสรรคสำคัญต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ โดยระบุว่ากฎระเบียบของ GE ตั้งอยู่บน “แนวคิดของการตีความหลักการป้องกันอย่างรุนแรง” “ในประวัติศาสตร์ทั้งหมดของการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีเอ็มโอ (GMOs) ไม่มีกรณีอันตรายที่บันทึกไว้แม้แต่ชิ้นเดียว”
ประการที่สาม แม้นว่าข้าวสีทองได้รับการยกย่องว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีศักยภาพในการช่วยชีวิตผู้คนนับล้าน แต่ข้าวสีทองอาจเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดในโลก ข้าวสีทองถูกต่อต้านอย่างรุนแรงและมีความพยายามหยุดโครงการข้าวสีทองจากนักสิ่งแวดล้อมและองค์กรที่ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น Friends of the Earth, MASIPAG (เครือข่ายองค์กรที่นำโดยชาวนาในฟิลิปปินส์) และกรีนพีซ (Greenpeace) ซึ่งเป็นแกนนำในการต่อต้านพืชดัดแปลงพันธุกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวสีทอง ในส่วนของกรีนพีซยืนยันตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่าข้าวสีทองเป็นสิ่งหลอกลวง มีการถกเถียงด้านความเสี่ยงและผลประโยชน์ของการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเหล่านี้ การถกเถียงไม่เพียงแต่เกี่ยวกับข้าวสีทองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรมโดยทั่วไปด้วย หลายกลุ่มในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาได้ยอมรับข้อโต้แย้งของกรีนพีซที่มีต่อข้าวสีทอง
ประการที่สี่ การเมืองในข้าวสีทอง ข้าวสีทองเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมชนิดแรกของโลกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่าชาวนา อุปสรรคใหญ่ที่สุดในการวางอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมราคาไม่แพงและมีคุณค่าทางโภชนาการบนโต๊ะของโลกไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องการเมือง เมื่อข้าวสีทองพร้อมใช้งานขั้นตอนต่อไป ควรให้ความรู้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติและประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์และเหตุผลที่เด็กหลายล้านคนต้องตายเพื่อรอคอย
Halsey – Castle (YouTube)
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
ข้าวทองมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการขาดวิตามินเอหรือไม่?
Ian Godwin ศาสตราจารย์ด้านอณูพันธุศาสตร์พืชแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลียกล่าวว่า การทบทวนวรรณกรรมทางวิชาการของเขาขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของกรีนพีซและกลุ่มอื่นๆ ที่ว่าข้าวสีทองไม่ใช่แหล่งวิตามินเอที่ดี “ข้าวสีทองพันธุ์ใหม่นี้ผลิตเบต้าแคโรทีนได้มากกว่าพันธุ์เดิมถึง 23 เท่า” Godwin กล่าว
การศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคข้าวสีทองของมนุษย์รวมทั้งในผู้ใหญ่อเมริกันในปี 2009 สรุปว่าเบต้าแคโรทีนจากข้าวสีทองสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากการศึกษาในปี 2012 การบริโภคข้าวสีทองของเด็กจีน 68 คนในวัย 6 ถึง 8 ขวบ พบว่าข้าวสีทองสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุง ซึ่งขณะนั้นกำลังทดสอบในฟิลิปปินส์และบังกลาเทศ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับแคปซูลวิตามินเอ และทำงานได้ดีกว่าเบต้าแคโรทีนตามธรรมชาติที่พบในผักโขม “การบริโภคข้าวสีทองในปริมาณที่พอเหมาะต่อวันประมาณหนึ่งถ้วยสามารถให้วิตามินเอได้ 50% ของปริมาณวิตามินเอที่แนะนำต่อวันสำหรับผู้ใหญ่”
โครงการ Golden Rice ได้อ้างถึงผลการทดสอบคุณค่าทางโภชนาการของข้าวสีทองกับเด็กจีนในปี 2012 หลายต่อหลายครั้ง แม้นว่าบทความนี้จะถูกเพิกถอนออกจากวารสารในปี 2015 เนื่องจากละเมิดจริยธรรมและทางการแพทย์ในการดำเนินการทดสอบดังกล่าวกับมนุษย์โดยไม่ได้ทดลองให้อาหารสัตว์มาก่อน การวิจัยผลการศึกษาดูเหมือนจะแสดงให้เห็นว่า Golden Rice จะช่วยเพิ่มระดับวิตามินเอของเด็กๆ แต่นักวิจารณ์ระบุว่า เป็นการทดลองในเด็กที่ไม่ได้อยู่ในภาวะขาดวิตามินเอ เด็กๆ เหล่านี้ได้รับอาหารที่สมดุลซึ่งรวมถึงไขมัน
อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์ยังกล่าวอีกว่า โครงการนี้ล้มเหลวในการพิสูจน์ว่าร่างกายมนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากโปรวิตามินเอจากข้าวชนิดนี้ได้อย่างเพียงพอหรือไม่ การอ้างว่าข้าวสีทองจะช่วยแก้ไขการขาดวิตามินเอยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ วิตามินเอละลายในไขมันและเด็กที่อยู่ในภาวะขาดวิตามินเอ (VAD) แทบจะไม่มีไขมันในอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขามักต้องทนทุกข์ทรมานจากปรสิตในลำไส้และการติดเชื้อ ที่ทำให้การเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเอทำได้ยากขึ้น
ผู้ต่อต้านข้าวสีทองได้อ้างถึงการตัดสินขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) ที่รับรองว่า “ข้าวสีทอง GR2E รุ่นปัจจุบันที่มีเบต้าแคโรทีนในปริมาณ 31 ไมโครกรัม/กรัม ปลอดภัยต่อการรับประทาน” แต่กล่าวว่า “ความเข้มข้นของเบต้าแคโรทีนในข้าวสีทอง GR2E ต่ำเกินไปที่จะรับประกันสำหรับการอ้างสิทธิ์เกี่ยวกับสารอาหารในสหรัฐอเมริกา” ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่มีประโยชน์ในการจัดการกับการขาดวิตามินเอ (VAD) ในทางตรงกันข้ามกับแหล่งอาหารที่มีอยู่และหาได้ง่าย
การเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วของเมล็ดข้าวสีทอง
dw.com
ผลการวิจัยใหม่ที่เผยแพร่โดยนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอินเดียที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Chemistry ปี 2017 พบว่าข้าวสีทอง (Golden Rice) มีปัญหาของการเสื่อมสภาพของเบต้าแคโรทีนในระหว่างการเก็บรักษา การศึกษาแสดงให้เห็นว่า ระดับเบต้าแคโรทีนของข้าวสีทองลดลงถึง 84% ภายใน 6 เดือน เว้นแต่จะเก็บรักษาไว้ในสภาพเป็นข้าวเปลือกที่แช่เย็นในบรรจุภัณฑ์สูญญากาศ การเสื่อมสลายของระดับเบต้าแคโรทีนจะเร็วขึ้นด้วยการแปรรูปและเป็นข้าวสีทองขัดสี นอกจากนี้การปรุงอาหารยังสามารถทำลายเบต้าแคโรทีนได้ถึง 25% คำอธิบายที่ชัดเจนคือ เบต้าแคโรทีนในข้าวสีทองไม่เสถียรเมื่อมีออกซิเจน อุณหภูมิและความชื้นสูงมีผลต่อการเสื่อมสลายของเบต้าแคโรทีน ดังนั้นภายใต้สภาวะการเก็บรักษาปกติในยุ้งฉางของเกษตกรที่อยู่ในเขตร้อน เบต้าแคโรทีนในเมล็ดข้าวสีทองจะเสื่อมสลายอย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงเวลาที่ข้าวสีทองเข้าสู่เด็กที่ขาดสารอาหาร ระดับเบต้าแคโรทีนอาจต่ำมากเนื่องจากสารประกอบดังกล่าวเสื่อมสภาพเร็วพอสมควร
อย่างไรก็ตามชาวนาในประเทศกำลังพัฒนามีการเก็บรักษาข้าวไว้ในกระสอบ ไม่ปิดผนึกหรือเก็บข้าวเปลือกไว้ในแพ็คสูญญากาศซึ่งจะทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น ไฟฟ้ายังคงหายากในชุมชนเกษตรกรรมห่างไกล ดังนั้นการเก็บรักษาข้าวสีทองในห้องเย็น เป็นไปไม่ได้เลย
ครอบครัวส่วนใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อ VAD ไม่มีที่ดินในการปลูกข้าว
โครงการข้าวสีทองคาดการณ์ว่าชาวนาจะสามารถปลูกข้าวสีทองได้ทันทีเมื่อได้รับการอนุมัติให้ปลูกได้ แต่จากการศึกษาใหม่โดยศาสตราจารย์ Glenn Davis Stone และคณะพบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่ที่มีเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ ไม่มีแม้แต่พื้นที่ปลูกข้าวสีทองเพื่อตนเอง หากต้องการเข้าถึงเด็กที่ขาดสารอาหารในพื้นที่ ข้าวสีทองจะต้องปลูกโดยเกษตรกรในเชิงพาณิชย์และขายในตลาด ชาวนาอาจต้องการเงินอุดหนุนเพื่อปลูกข้าวสีทอง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะจ่ายให้ปลูก
Glenn Davis Stone ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรมและการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเกี่ยวกับแนวโน้มด้านการเกษตรของโลกในด้านมนุษยธรรม และเป็นผู้สนับสนุนโครงการข้าวสีทองมาตั้งแต่ต้น ได้เขียนในในวารสาร Technology in Society ไว้ว่า “หลายครอบครัวที่มีเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอไม่มีแม้แต่พื้นที่ปลูกข้าว และผู้ที่อยู่บนภูเขาจะไม่ปลูกเพราะได้รับการผสมพันธุ์เป็นข้าวพันธุ์เตี้ยที่เรียกว่า IR-64 และ RSC-82”
Seafret – Wildfire (YouTube)
คำถามและคำตอบ
บริษัทต่างๆ จะควบคุมข้าวสีทองและเรียกเก็บเงินจากชาวนาหรือไม่?
กรีนพีซ (Greenpeace) คัดค้านการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่จดสิทธิบัตรแล้วในการเกษตรและต่อต้านการปลูกข้าวสีทอง โดยอ้างว่าข้าวสีทองจะช่วยเปิดประตูให้บริษัทต่างๆ สามารถก้าวเข้าสู่ประตูทางการเกษตรและแนะนำพืชอาหารดัดแปลงพันธุกรรมมากขึ้น กรีนพีซพยายามแสดงให้เห็นว่ามีอุบายของบริษัทอุตสาหกรรมที่ชั่วร้ายอยู่ ส่วนฟู้ดวอทช์ (Foodwatch) องค์กรเอกชนในเยอรมนีที่คอยจับตาความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคกล่าวหาว่า “ข้าวสีทองกำลังจะถูกขายโดยบริษัทเอกชน”
ผู้เสนอข้าวสีทองยืนยันว่าเทคโนโลยีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมนุษยธรรมและไม่ได้มีไว้สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ Syngenta (2013) กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจนบนเว็บไซต์: “เราไม่ได้มีผลประโยชน์ทางการค้าใน Golden Rice แต่อย่างใด Golden Rice เป็นโครงการเพื่อมนุษยธรรมโดยเฉพาะ”
สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ได้เน้นย้ำถึงลักษณะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ของโครงการของพวกเขาโดยระบุว่า “ไม่มีบริษัทใดที่จดทะเบียน … มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาของ IRRI หรือพันธมิตรในโครงการ Golden Rice และไม่มีใครได้รับค่าภาคหลวง หรือเงินจากการตลาด หรือการขายพันธุ์ข้าวสีทองที่พัฒนาโดย IRRI โครงการ Golden Rice เป็นโครงการของสาธารณะและได้รับทุนจากสาธารณะ”
“เทคโนโลยีนี้ได้รับการบริจาคโดยนักประดิษฐ์และบริษัทซินเจนทาให้แก่เกษตรกรที่ยากจนในประเทศกำลังพัฒนา” เว็บไซต์ของ IRRI ระบุ “ข้าวสีทองกำลังถูกนำไปใช้ในพันธุ์ข้าวที่เป็นของสาธารณะผ่านสถาบันวิจัยของภาครัฐในระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อให้สถาบันของรัฐจัดจำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับเกษตรกรที่ขาดแคลนทรัพยากร”
เนื่องจากนักวิชาการสองคน Beyer และ Potrykus ที่พัฒนาข้าวสีทองดั้งเดิมและเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการด้านมนุษยธรรมของโครงการ Golden Rice กำหนดว่าจะให้บริการแก่เกษตรกรที่ยากจนฟรี บริษัทซินเจนทาหรือบริษัทอื่นๆ ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาข้าวสีทองในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นจึงไม่สามารถเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ ตามที่ IRRI ระบุ ข้อกำหนดของใบอนุญาตที่มีอยู่ในฟิลิปปินส์และที่อื่นๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าพันธุ์ข้าวสีทองจะมีราคาไม่เกินราคาที่เทียบเท่ากันทั่วไป การปลูกจะมีราคาถูกและยั่งยืนอย่างไม่มีกำหนด เพราะเกษตรกรที่มีรายได้น้อยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากการเก็บเกี่ยวใดๆ และปลูกในฤดูกาลถัดไปโดยไม่ต้องซื้อใหม่
ข้าวทองให้ผลผลิตเหมือนกับข้าวทั่วไปหรือไม่?
ในปี 2014 IRRI รายงานว่าการทดลองภาคสนามเผยให้เห็นข้าวสีทอง GR2R แสดงให้เห็นว่าผลผลิตต่ำกว่าเมื่อเทียบกับข้าวทั่วไป สิ่งนี้จะเห็นได้ชัดก็ต่อเมื่อพืชสัมผัสกับลมและฝนในการทดลองภาคสนามหลายแห่งแบบเปิด ผลการวิจัยพบว่าแม้ว่าจะบรรลุระดับเป้าหมายของเบต้าแคโรทีนในเมล็ดข้าว แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่ำกว่าพันธุ์ท้องถิ่นที่เกษตรกรต้องการ
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ IRRI ได้ริเริ่มโครงการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ในปี 2014 เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวสีทองที่ให้ผลผลิตสูง ผลลัพธ์จากการทดลองภาคสนามซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2014 ถึงกรกฎาคม 2017 ไม่พบผลกระทบของพันธุ์ข้าวสีทอง GR2E ต่อประสิทธิภาพพืชไร่ ผลผลิต และคุณภาพของเมล็ดพืช นอกจากนี้ยังไม่พบความแตกต่างของปฏิกิริยาของศัตรูพืชและโรค ส่วนประกอบทางโภชนาการอื่นๆ ทั้งหมดของข้าวก็เหมือนกับพันธุ์ทั่วไป ยกเว้นการผลิตเบต้าแคโรทีนของข้าวสีทอง
ข้าวทองมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคหรือไม่?
ข้าวสีทองแตกต่างจากข้าวขาวเพียงอย่างเดียวคือ มีสารเบต้าแคโรทีน (β-carotene) หรือโปรวิตามินเอ ซึ่งร่างกายมนุษย์เปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ดังนั้นคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยจึงเกี่ยวข้องกับสารเบต้าแคโรทีนเป็นหลัก ซึ่งสารประกอบนี้มีอยู่ทั่วไปในอาหารที่สมดุลของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติ พืชดัดแปลงพันธุกรรมทั้งหมดต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวดและกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารที่เข้มงวดโดยประเทศที่ตรวจสอบพืชเหล่านี้ ยังไม่มีการศึกษาใดๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคข้าวดัดแปลงพันธุกรรมที่เพิ่มวิตามินเอ
รายงานของหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (FSANZ) ในปี 2017 พบว่าการบริโภคข้าวสีทอง (Golden Rice) “ถือว่าปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์เช่นเดียวกับอาหารที่ได้จากพันธุ์ข้าวทั่วไป” FSANZ พบว่า “ไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับความเป็นพิษหรือความเป็นภูมิแพ้ที่อาจเกิดขึ้น”
ในปี 2018 หลังจากการประเมินทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียด กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา (Health Canada) ได้อนุมัติการใช้ข้าวสีทอง GR2E เพื่อการบริโภคของมนุษย์ โดยได้ตัดสินว่า ข้าวสีทอง GR2E ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ นอกจากนี้ Health Canada ยังสรุปว่าข้าวสีทอง GR2E จะไม่มีผลกระทบต่อการแพ้และไม่มีความแตกต่างในคุณค่าทางโภชนาการของ GR2E เมื่อเทียบกับข้าวพันธุ์อื่นๆ ที่มีให้บริโภค ยกเว้นในระดับที่เพิ่มขึ้นของโปรวิตามินเอ
ในปี 2018 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติการใช้ข้าวสีทอง GR2E เพื่อการบริโภคของมนุษย์ และได้จัดระดับเบต้าแคโรทีนของข้าวสีทองซึ่งเป็นแหล่งวิตามินเอ อยู่ในประเภท “ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าปลอดภัย” (GRAS)
ข้าวสีทองไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม หรือไป “ปนเปื้อน” ข้าวในธรรมชาติหรือไม่?
นักเคลื่อนไหวต่อต้านจีเอ็มโอ (GMOs) หลายคนแสดงความคิดเห็นอย่างแข็งขันถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการปลูกข้าวสีทอง มีความเป็นไปได้ของการผสมเกสรข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวสีทองและข้าวที่ไม่ดัดแปลงพันธุกรรมจากการปลูกใกล้กัน พวกเขากลัวว่าเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และอาจนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เกี่ยวกับความกังวลนี้ จากรายงานของ VIB ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตในเบลเยียม ได้มีการศึกษาศักยภาพของข้าวสีทองในการผสมเกสรกับพันธุ์ข้าวอื่น ๆ พบว่ามีจำนวนจำกัด เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วข้าวจะผสมเกสรตัวเองได้ หากเกิดการผสมเกสรข้ามพันธุ์กัน งานวิจัยของ IRRI และที่อื่นๆ แสดงให้เห็นว่าโอกาสของ “การไหลของยีน” นั้นต่ำมาก เนื่องจากข้าวผสมเกสรได้เอง และละอองเรณูของข้าวจะทำงานได้เพียง 3-5 นาที
อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับโครงการ Golden Rice ได้วางมาตรการเพื่อป้องกันปัญหานี้แล้ว ประการแรกพื้นที่ที่ปลูกต้นข้าวสีทองจะถูกวางไว้ในระยะที่หนึ่งห่างจากพืชที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ ทำให้การผสมเกสรข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวสีทองและข้าวที่ไม่ดัดแปลงพันธุกรรมเกิดขึ้นได้น้อย นอกจากนี้การผสมเกสรข้ามพันธุ์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทั้งข้าวจีเอ็มและข้าวที่ไม่ใช่จีเอ็มออกดอกในเวลาเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายมากที่จะป้องกันปัญหานี้โดยการปลูกพืชในเวลาที่ต่างกัน
การรับประทานอาหารที่หลากหลายซึ่งมีเบต้าแคโรทีน จะดีกว่าข้าวสีทอง?
ฝ่ายต่อต้านข้าวสีทองให้ความคิดเห็นว่า การรับประทานอาหารที่หลากหลายซึ่งมีเบต้าแคโรทีน เช่น มันเทศ ผักใบ และผลไม้ จะช่วยให้เด็กได้รับวิตามินเออย่างเพียงพอและมีความปลอดภัยกว่า ในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ อินเดีย เป็นประเทศที่มีความหลากหลาย มีผักและผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนสูงพบมากทั่วไป
พวกเขาแนะนำว่าแทนที่จะพัฒนาพืชอาหารดัดแปลงพันธุกรรม ควรเน้นทรัพยากรไปที่การบรรเทาความยากจน การทำฟาร์มอย่างยั่งยืน และกลยุทธ์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วสำหรับการแทรกแซงด้านโภชนาการ เช่น การเสริมอาหาร การแจกแคปซูลวิตามินเอ และการกระจายอาหารผ่านสวนหลังบ้านหรือสวนในชุมชน
ฝ่ายสนับสนุนข้าวสีทองแย้งว่า ข้าวเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารที่โดดเด่นในประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่และเป็นอาหารหลักของมนุษยชาติมากกว่าครึ่งหนึ่ง หลายคนพึ่งพาข้าวเป็นหลักเพื่อความต้องการพลังงานส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถจ่ายหรือเข้าถึงตัวเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ครบถ้วน เช่น ผลไม้ ผัก และอาหารจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ นม และไข่ เป็นผลให้การขาดธาตุอาหารรอง เช่น เหล็ก สังกะสี และวิตามินเอ เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในประเทศที่บริโภคข้าว
ถึงแม้นว่าจะมีการแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดธาตุอาหารรอง เช่น การส่งเสริมการรับประทานอาหารที่สมดุล การให้นมบุตร การเสริมแคปซูลวิตามินเอ และการเสริมอาหาร ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล อย่างไรก็ตามประชากรเป้าหมายมักจะพลาดการแทรกแซงเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะซื้ออาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอได้ ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงพัฒนาข้าวสีทองเพื่อให้ได้รับวิตามินเออย่างเพียงพอ เนื่องจากข้าวเป็นพืชหลักที่บริโภคมากที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และราคาไม่แพงสำหรับครอบครัวที่ยากจน
สำหรับการเสริมวิตามินเอนั้น ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากและสม่ำเสมอเพื่อแจกจ่ายแคปซูลวิตามินเอให้กับผู้ที่ต้องการ ในขณะที่อาหารหลายชนิดมีเบต้าแคโรทีน แต่อาจมีราคาแพงในการซื้อ และยากที่จะเติบโตในภูมิภาคที่การขาดวิตามินเอ (VAD) เป็นปัญหา ดังนั้นข้าวสีทองอาจเป็นแนวทางที่ราคาถูกและกว้างขวางและยั่งยืนในการต่อสู้กับ VAD
Raleigh Ritchie – Stronger Than Ever (YouTube)
ผ่ายต่อต้าน Golden Rice
cfact.org
แม้นว่าข้าวสีทอง (Golden Rice) จะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ช่วยลดการขาดวิตามินเอได้จริง แต่นักเคลื่อนไหวต่อต้านจีเอ็มโอ (GMOs) หลายคนก็ยังคงคัดค้านการดำเนินโครงการ Golden Rice เช่นเดียวกับพืชจีเอ็มโออื่นๆ อย่างรุนแรง กรีนพีซ (Greenpeace) เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านข้าวสีทอง ผู้ต่อต้านจีเอ็มโอรวมทั้งกรีนพีซที่ต่อต้านข้าวสีทองมองว่า ความพยายามทั้งหมดเป็น “เครื่องมือหลอกลวง” เป็น “การประชาสัมพันธ์” เพื่อให้พืชดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการยอมรับทั่วโลก ข้าวสีทองถูกใช้เพื่อการค้าเท่านั้น ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ จะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด ข้าวสีทองไม่ได้มาแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอและการขาดสารอาหารอย่างแท้จริง
องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกรีนพีซได้สร้างความตระหนักถึงอันตรายของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งถือว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ และอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารโภชนาการและการเงิน ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) กลัวว่าสิ่งเหล่านี้สามารถแพร่กระจายผ่านธรรมชาติและผสมข้ามสายพันธุ์กับสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ สิ่งนี้อาจนำไปสู่การปนเปื้อนของสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่พืชดัดแปลงพันธุกรรม และคุกคามคนรุ่นต่อไปในอนาคตด้วยวิธีที่คาดไม่ถึงและไม่สามารถควบคุมได้ซึ่งไม่สามารถยกเลิกได้
กรีนพีซพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะหยุดการอนุมัติข้าวสีทองในฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนตุลาคม 2019 กรีนพีซได้ยื่นอุทธรณ์ต่อกรมวิชาการเกษตร-สำนักอุตสาหกรรมพืช (DA-BPI) ให้ยกเลิกการตัดสินใจโดยอ้างว่าขาดข้อมูลและความโปร่งใสในกระบวนการอนุมัติ กรีนพีซให้เหตุผลว่าข้าวสีทองผลิตเบต้าแคโรทีนไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอ มีวิธีอื่นๆ อีกมากมายในการรับวิตามินเอ เช่น การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอ แทนการรับประทานข้าวสีทอง กรีนพีซกล่าวว่า หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาและพัฒนาข้าวสีทองมา 20 ปี ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ยืนยันได้ว่าข้าวสีทองปราศจากอันตราย การโฆษณาว่าข้าวสีทองเป็นวิธีแก้ปัญหาทางหนึ่งของโรคขาดวิตามินเอนั้น พวกเขาสงสัยเป็นอย่างยิ่งและไม่เชื่อว่าข้าวสีทองจะสามารถแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอได้ พวกเขาเชื่อว่าข้าวสีทองเป็นเพียงการแสดงความสามารถในการประชาสัมพันธ์ที่จัดทำโดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่ต้องการหยั่งรากในประเทศกำลังพัฒนาภายใต้ข้ออ้างเรื่องความเมตตากรุณา
“การอนุมัติของ BPI เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ข้าวสีทอง” นั้นไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่งและเป็นการเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง” วิลเฮลมินา เพเลกรีนา นักรณรงค์อาวุโสของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “กรีนพีซขอประณามการไม่คำนึงถึงหลักการป้องกันอย่างเป็นระบบของ BPI ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการประเมินความปลอดภัยที่ส่งโดยผู้เสนอข้าวสีทองนั้นมีข้อบกพร่อง ข้อบกพร่องเหล่านี้ทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากในการประเมินและความปลอดภัยของ “ข้าวสีทอง GR2E” สำหรับอาหารและอาหารสัตว์ นอกจากนี้เรายังเชื่อว่าแอปพลิเคชัน GR2E ของ IRRI ไม่โปร่งใส
นอกจากนี้กรีนพีซยังตั้งข้อสังเกตว่า ความกังวลของเกษตรกร ชนพื้นเมือง กลุ่มศาสนา เยาวชน แม่ ผู้บริโภค และกลุ่มประชาสังคมไม่ได้รับการพิจารณาในระหว่างกระบวนการ กระบวนการอนุมัติไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและชนพื้นเมือง ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่น จริยธรรม และความเสี่ยงต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม นอกจากนี้การประเมินยังไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบของ “ข้าวสีทอง” ต่อการสูญเสียตลาดของเกษตรกร เนื่องจากการปนเปื้อนของพืชจากพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม
“มีวิธีแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ซึ่งมีราคาถูกกว่า ใช้งานได้จริงกว่า ไม่ต้องมีการดัดแปลงพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงของพืชอาหาร “ข้าวสีทอง” นั้นไม่จำเป็น เราเชื่อว่า DA ควรทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ในการส่งเสริมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ แทนที่จะส่งเสริมการแก้ไขด่วนที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์เช่น “ข้าวสีทอง” ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการใดๆ การเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและปลูกธัญพืชผลไม้และผักที่หลากหลายเพื่อการรับประทานอาหารที่หลากหลาย เป็นทางออกของความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ”
การต่อต้านในฟิลิปปินส์
grain.org
ข้าวสีทอง (Golden Rice) ถูกโจมตีจากกลุ่มที่นำโดยชาวนาและกลุ่มต่อต้าน GMOs มาหลายปีแล้ว ซึ่งอ้างถึงประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ความปลอดภัยของอาหารและความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม “เราเชื่อว่าข้าวสีทองเป็นเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นและไม่เป็นที่ต้องการ ซึ่งถูกขายโดยบริษัทต่างๆเพื่อการทำกำไรของพวกเขา ข้าวสีทองจะเป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพของประชาชนด้วย” Stop Golden Rice Network (SGRN) กล่าว
การทำลายแปลงทดสอบข้าวสีทองในฟิลิปปินส์
ในเดือนสิงหาคมปี 2013 นักเคลื่อนไหว 400 คนได้ทำลายการทดลองภาคสนามของข้าวสีทองในฟิลิปปินส์ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของ IRRI กำลังทำการทดลอง ต่อมาการกระทำของการทำลายล้างนี้ได้รับการประณามอย่างกว้างขวางในสื่อและโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในการสนทนาบนโซเชียลมีเดียที่ตามมา
Masipag เครือข่ายเกษตรกรและนักวิทยาศาสตร์ของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง “ข้าวสีทองเป็นอาหาร ยา หรือทั้งสองอย่าง? หากเป็นทั้งสองอย่าง แผนกอนามัยควรทำการศึกษาด้านความปลอดภัย” Chito Medina ผู้อำนวยการของ Masipag กล่าว “จนถึงขณะนี้มีเพียงการศึกษาการให้อาหารเท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่าวิตามินเอถูกดูดซึมโดยร่างกาย แต่ไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่แสดงว่าอาจมีการผลิตสารเคมีในกระบวนการทางพันธุวิศวกรรมหรือไม่”
Masipag และนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ กล่าวว่า ข้าวสีทองเป็นแนวทางที่ผิด มีวิธีที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพในการต่อสู้กับการขาดวิตามินเอ (VAD) คือการให้อาหารที่สมดุลและหลากหลายมากขึ้นด้วยโปรตีนและผัก และพวกเขากล่าวว่า มีเบต้าแคโรทีนเพียงพอในธรรมชาติไม่จำเป็นต้องดัดแปลงอาหารหลัก
“มันเทศสีส้มมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าข้าวสีทองถึง 5 เท่า แครอทมีมากกว่า 2-3 เท่า” Chito Medina ผู้อำนวยการของ Masipag กล่าว “แต่วิตามินเอต้องการไขมันเพื่อให้ร่างกายดูดซึม นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการขาดวิตามินเอในคนยากจน นั่นเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถซื้อเนื้อสัตว์ได้และพวกเขาก็ไม่มีอาหารที่สมดุล”
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2019 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) และสถาบันวิจัยข้าวฟิลิปปินส์ (PhilRice) ได้รับใบอนุญาตด้านความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับการใช้ข้าวสีทองเป็นอาหารและอาหารสัตว์หรือเพื่อการแปรรูปในฟิลิปปินส์ นับเป็นการอนุมัติดังกล่าวครั้งแรกในประเทศกำลังพัฒนา Masipag ได้ประณามการอนุมัติข้าวสีทองเป็นอาหาร ว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดระหว่าง IRRI, PhilRice และกระทรวงเกษตร – สำนักอุตสาหกรรมพืช (DA-BPI) -ของฟิลิปปินส์ Masipag กล่าวว่า “เรารู้สึกตกใจที่การอนุมัติได้ผ่านพ้นไปแล้วแม้จะมีปัญหามากมาย ข้าวสีทองเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงไม่เพียงแต่ต่อสุขภาพและผลกระทบในระยะยาวต่อเด็กสตรีและสิ่งแวดล้อม รวมถึงอนาคตของการผลิตข้าว และการควบคุมเมล็ดพันธุ์ของชาวนา จนถึงตอนนี้ผู้เสนอข้าวสีทองยังไม่สามารถจัดการกับข้อกังวลเกี่ยวกับปริมาณเบต้าแคโรทีนเล็กน้อยของข้าวสีทอง การเสื่อมสลายอย่างรวดเร็ว และความเป็นพิษที่อาจเกี่ยวข้องกับการย่อยสลายของเบต้าแคโรทีน”
เกษตรกรและผู้บริโภคในฟิลิปปินส์ที่ต่อต้านข้าวสีทองยังคงยืนกรานว่า ข้าวสีทองจะไม่แก้ไขปัญหาการขาดวิตามินเอในกลุ่มที่เปราะบางในประเทศกำลังพัฒนา แต่ในความเป็นจริงเป็นเครื่องมือในการควบคุมภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อมนุษยธรรมของข้าวสีทอง และทำการตลาดในฐานะ ‘ข้าวที่ดีต่อสุขภาพ’ ผู้เสนอกำลังหลอกลวงและมีความตั้งใจที่ซ่อนเร้นในการผลักดันข้าวสีทอง ซึ่งจะเป็นประตูเปิดในการนำไปสู่อาหารดัดแปลงพันธุกรรมมากขึ้น เช่น ถั่วเหลือง ฝ้าย มันฝรั่ง และข้าวโพด หลากหลายสายพันธุ์ ตามเว็บไซต์ของ IRRI นอกจากข้าวสีทองแล้ว IRRI กำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับข้าวดัดแปลงพันธุกรรมที่มีธาตุเหล็กและสังกะสีสูง เพื่อตอบสนองต่อโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและภาวะแคระแกรน
Greenpeace ได้ประณามการอนุมัติข้าวสีทองเป็นอาหาร ของสำนักอุตสาหกรรมพืช (BPI) และเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการตัดสินใจที่ผิดพลาดโดยทันที “การอนุมัติของ BPI สำหรับ ‘ข้าวสีทอง’ พืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้นไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่งและเป็นการเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง นี่เป็นการตัดสินใจที่โง่เขลาซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่ออาหารและการเกษตรในประเทศอย่างกว้างขวาง” กรีนพีซยืนยันว่าการอนุมัตินั้นไม่ถูกต้อง นอกเหนือจากการขาดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เพียงพอซึ่งขัดขวางกระบวนการอนุมัตินักวิทยาศาสตร์ ยังโต้แย้งว่าผู้เสนอข้าวสีทองไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอและน่าเชื่อถือเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้าวสีทองสำหรับการบริโภคของมนุษย์และต่อสิ่งแวดล้อม
กระบวนการอนุมัติยังล้มเหลวในการคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและชนเผ่าพื้นเมือง ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่น จริยธรรม และความเสี่ยงต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชาวฟิลิปปินส์ต้องตกอยู่ในภาวะล้มเหลวในการเพาะปลูกเนื่องจากพายุไต้ฝุ่นและภัยแล้ง รวมทั้งผลกระทบของกฎหมายการเก็บภาษีข้าว ซึ่งทำให้ราคาข้าวในท้องถิ่นลดลงเมื่อเทียบกับปริมาณการนำเข้า อย่างไรก็ตามการประเมินยังไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบของข้าวสีทองต่อการสูญเสียตลาดเพิ่มเติมสำหรับเกษตรกร เนื่องจากการปนเปื้อนของพืชจากสายพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม
Pelegrina นักรณรงค์ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “ข้าวสีทอง” ที่ดัดแปลงพันธุกรรมไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความหิวโหยหรือภาวะทุพโภชนาการ การแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือ ธัญพืชผลไม้และผักที่หลากหลาย เพื่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ รัฐบาลและผู้ใจบุญควรส่งเสริมโครงการที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและปลูกผักและผลไม้ที่หลากหลาย แทนที่จะฟังบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่งที่กำลังผลักดันการแก้ไขทางเทคโนโลยีราคาแพงที่ไม่ได้รับการพิสูจน์”
การต่อต้านในบังคลาเทศ
downtoearth.or
จากฐานข้อมูล VAD ทั่วโลกขององค์การอนามัยโลกพบว่าเด็กก่อนวัยเรียน 1 ใน 5 คนในบังกลาเทศขาดวิตามินเอ ในบรรดาหญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 23.7 ต้องทนทุกข์ทรมานจาก VAD
นักวิจัยของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ในฟิลิปปินส์ ทำงานร่วมกับนักวิจัยของสถาบันวิจัยข้าวบังกลาเทศ (BRRI) พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวสีทองที่มีชื่อว่า “GR2E BRRI dhan29” จากการผสมข้ามสายพันธุ์แบบดั้งเดิมระหว่างพันธุ์ข้าวสีทอง GR2-E Kaybonne กับพันธุ์ข้าวท้องถิ่น BRRI dhan29 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวฤดูแล้งที่ให้ผลผลิตมากที่สุดของบังกลาเทศ และมีการปลูกในประเทศอื่นๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น อินเดีย จีน เวียดนาม เนปาล ภูฏาน และเมียนมาร์
มีการทดสอบพันธุ์ข้าวสีทอง GR2E BRRI dhan 29 ในการทดลองภาคสนามในสถานที่จำกัดหลายแห่งใน Gazipur ในบังกลาเทศ เมื่อได้รับผลลัพธ์ที่เป็นบวกจากการทดลองภาคสนามสองปีติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2017 ไม่พบโรคที่สำคัญ เช่น โรคเชื้อราในข้าวสีทอง GR2E BRRI dhan29 ที่ดัดแปลงพันธุกรรม และให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่น BRRI dhan29 โดยเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ และข้าวสีทอง GR2E BRRI dhan29 มีความเท่าเทียมกันอย่างมากในเชิงเกษตรกับสายพันธุ์ท้องถิ่น BRRI dhan29 การศึกษาพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านคุณภาพ ยกเว้นการมีเบต้าแคโรทีน
นักวิทยาศาสตร์ด้านข้าวชาวบังกลาเทศได้พัฒนาข้าวที่อุดมด้วยเบต้าแคโรทีนไปสู่ขั้นตอนการปลดปล่อยพันธุ์ ซึ่งเป็นการประกาศศักราชใหม่ในการต่อสู้กับการขาดวิตามินเอ (VAD) พวกเขากล่าวเมื่อต้นปี 2020 ว่าการรอคอยใกล้จะสิ้นสุดลงแล้วสำหรับการเปิดตัวข้าวสีทอง (Golden Rice) เขารอคอยที่จะได้เห็น Golden Rice ออกสู่ไร่นาของเกษตรกร
ดร. โดนัลด์ เจแม็คเคนซี (Dr Donald J MacKenzie) ฝ่ายกำกับดูแลและหัวหน้าผู้ดูแลโครงการข้าวสีทองของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ด้านข้าวชาวบังกลาเทศได้พัฒนาข้าวที่อุดมด้วยเบต้าแคโรทีนให้ก้าวหน้าอย่างมาก ใกล้จะออกรวงข้าวสีทอง “ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็กำลังพัฒนาข้าวสีทองเช่นกัน แต่ฉันคิดว่าบังกลาเทศกำลังก้าวไปข้างหน้า”
ดร. พาร์ธา เอส บิสวาส (Dr Partha S Biswas) ผู้อำนวยการโครงการ Golden Rice ของสถาบันวิจัยข้าวบังกลาเทศ (BRRI) กล่าวว่า เบต้าแคโรทีน 10 ไมโครกรัม/กรัมใน GR2E BRRI dhan29 ดีพอที่จะตอบสนองความต้องการวิตามินเอ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่บริโภคข้าวในอาหารประจำวัน
ขณะนี้บังกลาเทศดูเหมือนจะกลายเป็นประเทศแรกที่อนุมัติ Golden Rice สำหรับการเพาะปลูกและการบริโภค
southasiaviacampesina.org
เครือข่าย Stop Golden Rice Network (SGRN) – เครือข่ายชาวนาทั่วประเทศในเอเชียและองค์กรชาวนาของบังกลาเทศ จัดการชุมนุมต่อต้านการตัดสินใจแนะนำข้าวสีทองของรัฐบาลบังคลาเทศ และยื่นอุทธรณ์ต่อกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมของบังกลาเทศ เพื่อปกป้องและรักษาความปลอดภัยของประชาชน และหยุดการค้าข้าวสีทอง นักเคลื่อนไหวกลัวว่าการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์จะนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ของบังกลาเทศ นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า ความยากจนและการไม่มีกำลังซื้ออาหารที่หลากหลายได้ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุหลักของการขาดวิตามินเอ (VAD) ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยข้าวสีทอง “มีผักและผลไม้มากมายในประเทศของเราซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินเอโดยเฉพาะผักและผลไม้สีเหลืองและสีเขียว ไม่จำเป็นต้องมี Golden Rice”
กลุ่มชาวนาของบังกลาเทศและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมตัวกันเพื่อประท้วงการตัดสินใจที่จะปล่อยข้าวสีทองในเชิงพาณิชย์ในบังกลาเทศ สหพันธ์แรงงานเกษตรของบังกลาเทศ (BAFLF) พร้อมกับกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่จัดชุมนุมเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2019 และยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมของบังกลาเทศ เพื่อเรียกร้องให้หยุดการเปิดตัวข้าวสีทองดัดแปลงพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ในประเทศ หลังจากที่ Abdur Razzak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมของบังกลาเทศ ประกาศเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ว่าการเพาะปลูกข้าวสีทองอาจเริ่มในประเทศภายในสามเดือน
สหพันธ์แรงงานเกษตรของบังกลาเทศ (BAFLF) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2019 โดยระบุว่าได้ส่งบันทึกข้อตกลง 4 ประเด็นต่อรัฐมนตรีเกษตรและสิ่งแวดล้อม ข้อเรียกร้องหลักได้แก่
(1) ต้องหยุดการแนะนำข้าวสีทอง
(2) เส้นทางของพืชจีเอ็มทั้งหมดที่กำลังดำเนินการอยู่ต้องถูกยกเลิก และต้องหยุดการเพาะปลูก Bt Brinjal (มะเขือม่วงดัดแปลงพันธุกรรม) ในเชิงพาณิชย์
(3) ห้ามนำเข้าและใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย
(4) ปรับปรุงกฎความปลอดภัยทางชีวภาพ 2012 และตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการนำไปใช้อย่างเหมาะสม
นายอับดุล มาซิด ตัวแทนของสหพันธ์แรงงานฟาร์มเกษตรบังกลาเทศ (BAFLF) กล่าวในการชุมนุมประท้วง ระบุว่าบริษัทข้ามชาติได้กำหนดเป้าหมายให้บังกลาเทศเป็นห้องทดลองในการติดตามพืชจีเอ็มของตน และใช้คนและเกษตรกรเป็นหนูตะเภาเพื่อผลประโยชน์ พืชจีเอ็มเป็นที่ถกเถียงกันในแง่ของความปลอดภัยทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมจะไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนทางชีวภาพกับพันธุ์ท้องถิ่น และความเสี่ยงใดๆ ที่เกิดจากการบริโภคพืชอาหารจีเอ็มโดยมนุษย์
จากข้อกังวลเหล่านี้ มีกฎและข้อบังคับสากลเกี่ยวกับการนำเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ คำเตือนทางวิทยาศาสตร์และกฎหมายเหล่านั้นไม่ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเหมาะสมในการใช้พืชจีเอ็มในบังกลาเทศ วัตถุประสงค์หลักของการอนุมัติข้าวสีทองสำหรับการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ของรัฐบาล คือ เพื่อตอบสนองความสนใจของบริษัทข้ามชาติ หากข้าวสีทองถูกนำไปใช้ในบังกลาเทศ การเกษตรและเกษตรกรจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ความมั่นคงด้านอาหารจะเสี่ยงมากขึ้น และจะส่งผลอย่างร้ายแรงต่ออธิปไตยด้านอาหารของชุมชน
นัสริน สุลตาน่า ตัวแทนของสหภาพอาหารระหว่างประเทศ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์และนักโฆษณาชวนเชื่อที่ได้รับค่าจ้างของบริษัทข้ามชาติ กำลังอำนวยความสะดวกและส่งเสริมข้าวสีทอง โดยบอกว่าข้าวนี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอ ข้าวสีทองไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมในการกำจัดการขาดวิตามินเอ (VAD) มีวิตามินเอจำนวนมากในผักและผลไม้ทั่วไปที่ปลูกในประเทศอยู่แล้ว ความยากจนและการขาดการซื้อของคนยากจนเป็นสาเหตุหลักของการขาดสารอาหารรวมถึง VAD การนำข้าวที่จดสิทธิบัตรของบริษัทมาใช้จะทำให้ระบบการผลิตทางการเกษตรของเราต้องพึ่งพาบริษัทข้ามชาติมากขึ้น และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการเกษตรแบบดั้งเดิม การค้าข้าวสีทองเท่ากับผลกำไรขององค์กรมูลค่าหลายพันล้าน โดยมีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และเสรีภาพเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร รัฐบาลต้องหยุดการปล่อยข้าวสีทองในเชิงพาณิชย์
ในปี 2018 GRAIN ได้ออกรายงานเกี่ยวกับ Golden Rice โดยรายงานว่า “Golden Rice ไร้ประโยชน์และไม่น่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอ (VAD) หากเบต้าแคโรทีนอยู่ในระดับต่ำอย่างสม่ำเสมอและมีแนวโน้มที่จะเสื่อมสลายอย่างรวดเร็ว ผลผลิตอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าเกษตรกรอาจประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหากพวกเขาเลือกที่จะปลูกข้าวสีทอง ในขณะเดียวกันข้าวสีทองจะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถก้าวเข้าสู่ประตูทางการเกษตรของเรา และแนะนำพืชอาหารดัดแปลงพันธุกรรมมากขึ้น ข้าวสีทองเป็นวิธีการขององค์กรเพื่อควบคุมการเกษตรของเรา อันที่จริงวิธีแก้ปัญหาความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งโภชนาการที่หลากหลายได้ การควบคุมทรัพยากรของเกษตรกรรายย่อยอย่างปลอดภัย เช่น เมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีที่เหมาะสม น้ำ และที่ดินเป็นกุญแจสำคัญในการปรับปรุงการผลิตอาหารและขจัดความหิวโหยและการขาดสารอาหาร
Harry Styles – Golden (YouTube)
ฝ่ายสนับสนุนข้าวสีทอง
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาผู้สร้างและผู้เสนอข้าวสีทอง (Golden Rice) ได้เน้นย้ำโครงการอย่างต่อเนื่องว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรเทาการขาดวิตามินเอ (VAD) ที่แพร่หลายซึ่งเป็นปัญหาในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศโดยเฉพาะในแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เด็กก่อนวัยเรียนประมาณ 250 ล้านคนขาดวิตามินเอ ความยากจนและการไม่มีกำลังซื้อถูกระบุว่าเป็นสาเหตุหลักของการขาดสารอาหารรวมถึง VAD
ผู้สนับสนุนข้าวสีทองเชื่อว่าข้าวชนิดนี้มีศักยภาพในการช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการขาดวิตามินเอสองล้านคนทั่วโลกได้ นอกจากนั้นวิตามินเอยังช่วยป้องกันโรคตาบอดในเด็กได้ด้วย ดังนั้นผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากจะเป็นเยาวชนและสตรีมีครรภ์ในหลายประเทศที่ประสบปัญหานี้ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเเอฟริกา ฉันทามติทางวิทยาศาสตร์ยืนยันมานานแล้วว่าข้าวสีทองเช่นเดียวกับจีเอ็มโออื่นๆ ในตลาดมีความปลอดภัยในการปลูก แปรรูป และรับประทาน มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) และผู้บริจาครายใหญ่อื่นๆ มองว่าข้าวสีทองเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพที่สำคัญในการต่อสู้กับการขาดวิตามินเอและแม้จะมีการประท้วงจำนวนมาก แต่โครงการ Golden Rice “ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป”
หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และกฎระเบียบทั่วโลกพบว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็มได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อให้ปลอดภัย ไม่เคยมีกรณีที่ได้รับการยืนยันแม้แต่กรณีเดียวเกี่ยวกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่เป็นลบสำหรับมนุษย์หรือสัตว์จากการบริโภค ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของพืชจีเอ็มเหล่านี้ได้รับการแสดงซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง และเป็นประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก
การขาดวิตามินเอคร่าชีวิตเด็ก 2,000,000 คนในแต่ละปี โครงการข้าวสีทองชี้ให้เห็นว่าฝ่ายต่อต้านข้าวสีทองต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเด็กหลายล้านคนที่ทุกข์ทรมานจาก VAD เหตุใดกรีนพีซจึงคัดค้านการช่วยชีวิตเด็กหลายล้านคนในประเทศกำลังพัฒนา ทำไมพวกเขาไม่รักเด็กมากกว่าเกลียดวิทยาศาสตร์? กรีนพีซและพันธมิตรได้กล่าวอ้างอย่างไม่ถูกต้องว่า GMOs เป็นอันตราย ได้รับการทดสอบและควบคุมไม่เพียงพอ แต่วิทยาศาสตร์บอกเราว่าพืชจีเอ็ม (Genetically Modified Crops; GM Crops) ปลอดภัยสำหรับการบริโภคซึ่งได้รับการยืนยันมากมาย มนุษย์กินพืชอาหารดัดแปลงพันธุกรรมเป็นจำนวนหลายแสนล้านในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาโดยไม่มีปัญหาใดๆ ที่เกิดจากพืชอาหารดัดแปลงพันธุกรรมเลยแม้แต่กรณีเดียว
จากความสงสัยของฝ่ายต่อต้านข้าวสีทองว่า ข้าวสีทองจะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ผู้สนับสนุนโครงการข้าวสีทองกล่าวว่า แม้นว่าข้าวสีทองจะไม่สามารถกำจัด VAD ให้หมดไปในประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็อาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ เราควรใช้เครื่องมือทั้งหมดในการกำจัด VAD การปลูกและบริโภคข้าวสีทองควบคู่ไปกับการแทรกแซงอื่น ๆ (เช่นโครงการเสริมด้วยแคปซูลวิตามินเอของ UNICEF) จะได้ผลในการกำจัด VAD มากกว่าการแทรกแซงเพียงอย่างเดียว
ข้อกังวลของฝ่ายต่อต้านข้าวสีทอง เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าโครงการข้าวข้าวสีทองมีพันธมิตรในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและบริษัทที่แสวงหาผลกำไร ผู้สนับสนุนโครงการข้าวสีทองปฏิเสธ และกล่าวว่าโครงการข้าวสีทองมีอิสระในการดำเนินการภายใต้การใช้งานด้านมนุษยธรรม ดังนั้นจึงสามารถให้บริการเทคโนโลยีนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในประเทศกำลังพัฒนา
สุดท้ายผู้สนับสนุนโครงการข้าวสีทองชี้ให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่า กลุ่มต่อต้านข้าวสีทองก็มีวาระทางการเมืองของตัวเองเช่นกัน พวกเขาไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือผู้บริโภค แต่เป็นตัวแทนของการต่อสู้อย่างรุนแรงต่อเทคโนโลยีและความสำเร็จทางการเมือง กรีนพีซโต้แย้งการตัดแต่งพันธุกรรมเพราะกลัวความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพสามารถปรับปรุงผลผลิตและความยั่งยืนของระบบเกษตรกรรมของประเทศกำลังพัฒนา จัดหาสารอาหารรองในปริมาณและความพร้อมใช้งานได้มากขึ้น และลดปัจจัยการผลิตทางเคมีจำนวนมากทั้งในทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ผู้ได้รับรางวัลโนเบลมากกว่า 100 คนเรียกร้องให้กรีนพีซยุติการรณรงค์ต่อต้านจีเอ็มโอ
ข้าวสีทองเป็นข้าวดัดแปลงพันธุกรรม ได้รับการออกแบบมาเพื่อสังเคราะห์เบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ และกำลังได้รับการเสนอให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อต่อสู้กับการขาดวิตามินเอและการขาดสารอาหาร นับตั้งแต่โครงการข้าวสีทอง (Golden Rice Project) เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มันได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งและการถกเถียงกัน ข้าวสีทองได้รับการสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ที่มีและไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
ในเดือนมิถุนายน 2016 มีผู้ได้รับ “รางวัลโนเบล” มากกว่า 100 คนได้ลงนามในจดหมายที่มีข้อความถึงกรีนพีซ เรียกร้องให้กลุ่มสิ่งแวดล้อมยุติการรณรงค์ต่อต้านสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ที่มีมายาวนาน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลส่วนใหญ่ได้รับรางวัลในสาขาวิทยาศาสตร์ประเภทหนึ่ง และ 41 คนได้รับโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ คนเหล่านี้คือคนที่เข้าใจกลไกและผลประโยชน์และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จาก GMOs อย่างลึกซึ้ง
ในจดหมายดังกล่าวกรีนพีซถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำ “การรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อที่ท้าทายความจริงเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร” “ขอให้กรีนพีซยุติความพยายามในการปิดกั้นการนำข้าวสายพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมที่ผู้สนับสนุนกล่าวว่า สามารถลดการขาดวิตามินเอที่ทำให้ตาบอดและเสียชีวิตในเด็กในประเทศกำลังพัฒนา” จดหมายดังกล่าวยังระบุว่า “การประเมินทางวิทยาศาสตร์หลายครั้งพบว่าอาหารจีเอ็มโอปลอดภัยพอๆ กับการรับประทานอาหารทั่วไป และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม”
Richard Roberts หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของ New England Biolabs กล่าวกับเดอะวอชิงตันโพสต์ “เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราเข้าใจตรรกะของวิทยาศาสตร์ สิ่งที่กรีนพีซทำนั้นสร้างความเสียหายและเป็นการต่อต้านวิทยาศาสตร์ กรีนพีซและพันธมิตรบางส่วนจงใจสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนซึ่งเป็นวิธีสำหรับพวกเขา เพื่อหาเงินจากสาเหตุของพวกเขา”
Artists Of Then, Now & Forever Forever Country & The Making of Forever Country (YouTube)
รวมเทพ! เพลงนี้ออกสู่สาธารณะในเดือนกันยายน 2016 สองเดือนหลังจากที่ผู้ได้รับรางวัลโนเบลมากกว่า 100 คนเรียกร้องให้กรีนพีซยุติการรณรงค์ต่อต้านจีเอ็มโอ