Agriculture, เกษตรไทย
ระบบเกษตรพันธสัญญาในประเทศไทย (Contract Farming)
เกษตรพันธสัญญาคืออะไร
เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) คือ ระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงก่อนการผลิตระหว่างเกษตกรกับผู้ซื้อ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขสำหรับการผลิตและการตลาดของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เงื่อนไขเหล่านี้มักจะระบุราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น ที่เรียกว่า “ราคาประกัน” ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา เกษตรกรตกลงที่จะให้ปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรตามที่ตกลงกันในสัญญา และส่งมอบตามเวลาที่ผู้ซื้อกำหนด โดยทั่วไปเกษตรกรตกลงที่จะทำตามคำแนะนำของผู้รับซื้อในด้านวิธีการผลิต การใช้ปัจจัยการผลิต และการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่ผู้ซื้อต้องการ ส่วนผู้ซื้อจะสนับสนุนการผลิตของเกษตรกร เช่น หาแหล่งเงินทุนให้เกษตรกร จัดหาปัจจัยการผลิตได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ให้เทคโนโลยีการเกษตร และให้คำแนะนำด้านการผลิต ตลอดจนหาตลาดเพื่อกระจายผลผลิตให้เกษตรกร แนวคิดพื้นฐานของระบบเกษตรพันธสัญญาเชื่อว่าทั้งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรจะได้ผลประโยชน์ร่วมกัน
สาเหตุที่ต้องมีระบบเกษตรพันธสัญญา
ทุกวันนี้โลกาภิวัตน์ได้นำโลกเข้ามาใกล้กันมากขึ้น ความต้องการอาหารและสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแบบแผนการบริโภคอาหารของผู้บริโภคได้เปลี่ยนมาบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย ตลาดอาหารในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงขึ้น ทั้งในเรื่องของการนำเสนอสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด การตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที ในบริบทใหม่นี้ผู้ซื้อสินค้าเกษตรต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานอาหาร (Food Supply Chain) เพื่อให้สามารถจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีได้โดยตรงจากเกษตรกร เพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารจากลูกค้าของตนเอง เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น
kissclipart.com
จากการเปลี่ยนแปลงของโลกข้างต้น ทำให้เกิดรูปแบบของการบริหารจัดการทางธุรกิจสมัยใหม่ ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารต้นทุนการผลิต ผลิตสินค้าที่มีปริมาณและคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมการผลิตในทุกขั้นตอน ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนากระบวนการผลิตไปสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานอาหาร (Food Supply Chain) หรือที่เรียกกันว่า “จากไร่นาถึงโต๊ะอาหาร” (From Farm to Folk) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของการผลิตอาหาร และมีสินค้าอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ทำให้ภาคการเกษตรมีการปรับกระบวนการจากเดิม เกษตรกรใช้ระบบการผลิตแบบครัวเรือนหรือในฟาร์มขนาดเล็ก และสินค้าเกษตรอยู่ภายใต้ระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบดั้งเดิม กล่าวคือ เกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจมีความสัมพันธ์ด้านซื้อขายในลักษณะการส่งมอบสินค้าในทันที มาเป็น “อุตสาหกรรมการเกษตร” มากขึ้น คือ เน้นการผลิตในปริมาณมาก นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในผลิตและการจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านต่างๆ จนเกิดความสัมพันธ์แบบใหม่ในห่วงโซ่อุปทานแบบใหม่ ที่เน้นกลไกของการพัฒนาวงจรการผลิตร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับเกษตรกรผู้ผลิตอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การจำหน่ายปัจจัยการผลิต การแปรรูป กระทั่งการส่งออก
saiseenews.com
ระบบเกษตรพันธสัญญาในประเทศไทย
ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการผลิตทางการเกษตรมานานหลายทศวรรษ และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ระบบเกษตรพันธสัญญาถูกนำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โดยบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (ซีพีเอฟ) ซึ่งดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีเครือข่ายธุรกิจทั่วประเทศ มีการผลิตขนาดใหญ่เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา และถูกใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนาการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นที่ยอมรับ ปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร เกือบ 6,000 รายที่อยู่ในระบบพันธสัญญากับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่ง 90% เป็นเกษตรกรประเภทประกันรายได้ หรือ “จ้างเลี้ยง” บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นบริษัทเดียวที่ทำประกันภัยด้านภัยพิบัติให้กับกลุ่มเกษตรกรด้านประกันรายได้ ส่วนที่เหลือ 10% เป็นกลุ่มประกันราคา ซึ่งเป็นเกษตรกรรายใหญ่ที่มีการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท จัดเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง
เดิมการเกษตรไทยใช้ระบบการผลิตแบบครัวเรือนหรือในฟาร์มขนาดเล็กซึ่งต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง เกษตรกรเป็นกลุ่มอาชีพที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางรายได้มาตลอด อันเนื่องจากความผันผวนของราคาผลผลิตการเกษตรซึ่งมีทิศทางแนวโน้มลดลง ยังมีความแปรปรวนของสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือเกิดน้ำท่วมฉับพลัน หรือน้ำป่าไหลหลาก สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นทางด้านพืชหรือปศุสัตว์ ขาดตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน นอกจากนี้เกษตรกรรายย่อยจะมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน ขาดเครดิตในการยื่นขอสินเชื่อ และไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้เงินทุนสูงได้ ทำให้เกษตรกรที่กำลังแสวงหาวิธีการพาตัวเองออกจากความยากจนที่ต้องเผชิญอยู่ ต้องหันมาพึ่งพิงระบบเกษตรแบบพันธสัญญามากขึ้นเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่บริษัทเอกชนไม่สามารถผลิตวัตถุดิบด้วยตัวเองได้ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงและขาดแคลนแรงงาน
การผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญาในประเทศไทยได้เติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร สามารถวางแผนการผลิตและการตลาด สามารถขยายกำลังการผลิตมากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนในที่ดินและการสร้างโรงเรือนเอง ทั้งยังจัดหาผลิตผลทางการเกษตรได้ตรงตามคุณภาพและปริมาณที่ตนต้องการ ส่วนเกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนมากขึ้น เนื่องจากมีการประกันรายได้ ประกันราคารับซื้อผลผลิตล่วงหน้า ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีตลาดรองรับผลิตผลทางการเกษตรที่แน่นอน ลดความผันผวนทางด้านราคา
กลุ่มเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญาในประเทศไทยมี กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ สุกร ไก่ ปลาในกระชัง กับกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืช ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวญี่ปุ่น โดยรูปแบบของการทำเกษตรพันธสัญญามี 3 แบบ คือ
(1) การประกันรายได้ เหมาะกับเกษตรกรที่ยังไม่มีประสบการณ์การผลิตและการตลาด เกษตรกรเป็นเสมือนผู้รับจ้างด้านแรงงานในที่ดินของตัวเอง หรือเรียกว่าเป็น “ระบบจ้างเลี้ยง” ซึ่งเป็นที่นิยมในการทำฟาร์มเลี้ยงสุกร โดยบริษัทเอกชนทำสัญญาจ้างเกษตรกรเจ้าของฟาร์มให้ทำการเลี้ยงสุกรภายใต้มาตรฐานที่บริษัทกำหนด และได้รับผลตอบแทนเป็น“ค่าจ้างเลี้ยง” ซึ่งเกษตรกรจะมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากปัจจัยการผลิตจะได้รับการสนับสนุนจากทางบริษัทหรือบริษัทออกเงินลงทุนเอง
(2) การประกันราคา เหมาะกับเกษตรกรที่ไม่ต้องการความเสี่ยงด้านราคาและตลาด โดยตกลงราคารับซื้อผลผลิตล่วงหน้าระหว่างบริษัทกับเกษตรกร เกษตรกรมีบทบาทเป็นผู้ร่วมลงทุน โดยบริษัทจะชำระส่วนต่างของรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบของการผลิตให้แก่เกษตรกร ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรได้รับปัจจัยการผลิตจากทางบริษัท เมื่อส่งมอบผลิตผลแก่บริษัท จะถูกหักค่าใช้จ่ายของปัจจัยการผลิตออกจากผลตอบแทน
(3) การประกันตลาด เกษตรไม่ต้องทำการตลาดเอง มีตลาดรับซื้อแน่นอน บริษัทเป็นคนรับซื้อตามความต้องการของบริษัท แต่รูปแบบนี้เกษตรกรจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด เกษตรกรมีความเสี่ยงกับการผันผวนของราคา รวมทั้งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตทั้งหมด รูปแบบนี้เหมาะกับเกษตรกรรายใหญ่ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์สูง นอกจากนี้ยังให้ผลตอบแทนสูงกว่ารูปแบบอื่นๆ
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2558 เกษตรกรที่เข้าร่วมระบบเกษตรพันธสัญญามีจำนวนกว่า 3 แสนราย แต่ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรทั่วประเทศ
ประโยชน์ของการทำเกษตรพันธสัญญาสำหรับเกษตรกร
(1) เกษตรกรไม่ต้องกังวลในเรื่องรายได้ เนื่องจากบริษัทคู่สัญญาจะเป็นผู้ซื้อผลผลิตตามปริมาณและคุณภาพตามข้อตกลงในสัญญา และมีการประกันราคารับซื้อล่วงหน้า ทำให้ลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาพืชผลในตลาด ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน
(2) เกษตรรายย่อยมีข้อกำจัดด้านเงินทุน มักประสบปัญหาการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน บริษัทใหญ่คู่สัญญาจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายย่อยในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
(3) เกษตรกรสามารถเข้าถึงตลาดที่มีการแข่งขันสูงและเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น เช่น การส่งออก ตลอดจนมีรถมารับซื้อผลผลิตถึงพื้นที่ผลิต ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งและค่าการตลาดลดลง
(4) เกษตรกรได้มีโอกาสเรียนรู้กรรมวิธีการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับลดต้นทุนในการผลิต ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆในการผลิตจากบริษัทคู่สัญญา ช่วยพัฒนาศักยภาพการผลิตของเกษตรกรให้มีคุณภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
(5) บริษัทคู่สัญญาจะจัดหาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช พร้อมให้คำแนะนำทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด
ประโยชน์ของการทำเกษตรพันธสัญญาสำหรับบริษัทคู่สัญญา
(1) ลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากบริษัทไม่ต้องลงทุนซื้อที่ดิน ไม่ต้องจ้างแรงงานเอง ไม่มีภาระเรื่องสวัสดิการของแรงงาน
(2) บริษัทได้ดำเนินธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ขั้้นตอนการผลิตไปจนถึงการตลาด สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและผลผลิตได้ในทุกขั้นตอน ทำให้เกษตรกรผลิตสินค้าได้มาตรฐานตรงตามที่บริษัทกำหนด และตรงตามความต้องการของตลาด ผลผลิตมีคุณภาพดี มีสุขอนามัยและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
(3) การไหลของวัตถุดิบอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาผลผลิตได้ปริมาณตามที่ตลาดต้องการ
(4) การป้องกันจากความผันผวนของราคาในตลาด
(5) การวางแผนระยะยาวเป็นไปได้
(6) แนวคิดสามารถขยายไปยังพืชอื่น
ข้อเสียของการทำเกษตรพันธสัญญาสำหรับเกษตรกร
(1) แม้เกษตรกรจะได้รับประโยชน์ในแง่ของรายได้ที่แน่นอนมากขึ้น แต่อาจส่งผลให้เกษตรกรอาจมีหนี้สินเพิ่มขึ้น จากปัญหาการผลิต หรือจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
(2) เกษตรกรเผชิญความเสี่ยงของปัญหาการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปลูกพืชชนิดใหม่ที่เกษตรไม่เคยปลูกมาก่อนในที่ดินของตัวเอง
(3) เกษตรกรสูญเสียโอกาสที่จะขายผลผลิตให้กับผู้ซื้อรายอื่น เมื่อราคารับซื้อสูงขึ้น
ข้อเสียของการทำเกษตรพันธสัญญาสำหรับบริษัทคู่สัญญา
(1) บริษัทคู่สัญญาต้องแบกรับความเสี่ยงที่มาจากปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในการถือครองที่ดินของเกษตรกร
(2) ารคัดเลือกเกษตรกรที่ผิดพลาด เกษตรกรยังขาดศักยภาพในการผลิต ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือทำตามมาตรฐานการผลิตได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทคู่สัญญา
(3) เกษตรกรอาจลักลอบขายผลผลิตให้กับผู้ค้ารายอื่น
(4) เกษตรกรอาจใช้ประโยชน์จากปัจจัยการผลิตเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
(5) การจัดการที่ไม่ดีและขาดการปรึกษากับเกษตรกร อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งกับเกษตรกรได้
Billie Eilish, Khalid – lovely (YouTube)
เกษตรพันธสัญญาคือ “สัญญาทาส”?
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่สัญญา รวมถึงความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติตามสัญญา เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการจัดการระบบเกษตรพันธสัญญา ( Contract Farming) ในอดีตที่ผ่านมาเกษตรพันธสัญญาในประเทศไทยทำกันอย่างเสรี ไม่มีคนกลางมาดูแล ไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อบังคับใช้กับการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา แม้ระบบเกษตรพันธสัญญาจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดของเกษตรกรรายย่อย เพิ่มรายได้และการจ้างงาน แต่ก็มีผลในทางลบโดยเฉพาะกับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเมื่อเกษตรกรเข้าไปสู่วงจรการพึ่งพาทุนและปัจจัยการผลิตจากนายทุนแล้ว เพราะเกษตรกรขาดความรู้ ความเข้าใจ และไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ก็จะเป็นช่องทางให้นายทุนซึ่งมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าและเป็นผู้จัดทำสัญญา กำหนดข้อสัญญาให้ตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพื่อผลประโยชน์ที่นายทุนจะได้รับสูงขึ้น เกษตรกรมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งเรื่องผลตอบแทน มีความเสี่ยงมากขึ้น เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงกรณีที่เกิดจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด การคิดดอกเบี้ยสูง ไม่รู้ว่าต้นทุนที่แท้จริงคือเท่าไร เกษตรกรหลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ถูกยึดแปลงเกษตรหรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ กลายเป็นบุคคลล้มละลาย
จากการสำรวจพบว่าการทำเกษตรพันธสัญญา ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงด้านราคาและการตลาดลดลง แต่ความเสี่ยงด้านผลผลิตรายได้และอยู่ในระดับสูง ในกลุ่มที่ปลูกพืชมีความเสี่ยงด้านผลผลิตและรายได้น้อยกว่ากลุ่มที่เลี้ยงสัตว์ จากการสำรวจของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาเมื่อปี 2556 พบว่า เกษตรกร 10 จังหวัด เช่น ขอนแก่น ยโสธร มหาสารคาม ฯลฯ จำนวน 1,760 คน เป็นหนี้สิน 1,182 ล้านบาท
ภาพความโหดร้ายของระบบเกษตรพันธสัญญา ที่เป็นเครื่องมือของระบบอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัทกับรัฐบาลโดยให้ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน สำหรับเกษตรกรตัวสัญญาเป็นเครื่องมือผูกมัดเกษตรกรให้ทำตามที่บริษัทสั่ง ทำให้เกิดคำเรียก เกษตรพันธสัญญาว่า เป็น “สัญญาทาส” ซึ่งเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ในระบบทุนนิยม สร้างความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งลิดรอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามที่ว่า ทำไมเกษตรกรยังออกมาประท้วงเรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และมีหนี้สินมหาศาล ในขณะที่การส่งออกภาคการเกษตรเติบโตเพิ่มขึ้น
ปัญหาที่ทำให้เกิดกรณีข้อพิพาทในการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญาได้แก่
เกษตรกรไม่มีอำนาจในการต่อรอง
ปัญหาของระบบเกษตรพันธสัญญา มาจากการที่เกษตรกรขาดอำนาจในการต่อรอง เป็นเพียงแต่ผู้ปฏิบัติตามสัญญาที่ร่างโดยบริษัทแต่เพียงฝ่ายเดียวและไม่มีคนกลางเข้ามาดูแล ซึ่งบริษัทมักกำหนดข้อสัญญาที่ตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ และยกความเสี่ยงให้เกษตรกรเป็นผู้รับภาระแทบทั้งหมด ในขณะที่เกษตรกรในสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ขาดความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดหรือข้อตกลงในสัญญา ทำให้เกษตรไม่สามารถตั้งคำถามและเจรจาต่อรองกับบริษัท รวมทั้งสัญญาที่ไม่ชัดเจน ให้รายละเอียดไม่ครบถ้วน เกษตรกรเซ็นสัญญาไปทั้งๆที่ไม่เข้าใจเนื้อหาในสัญญา จึงทำให้เกิดประเด็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างต่อเนื่อง
เกษตรกรไม่ได้รับหนังสือสัญญาทันทีหรือบริษัทเก็บหนังสือสัญญาไว้เพียงฝ่ายเดียว
เมื่อปี พ.ศ 2556 ได้เกิดปัญหาหนี้เกษตรพันธสัญญาระหว่าง บริษัทสหฟาร์มซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการส่งออกและผลิตไก่สดแช่แข็งครบวงจรรายใหญ่ของไทย กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเลี้ยงไก่เนื้อในระบบเกษตรพันธสัญญา เนื่องจากบริษัทสหฟาร์มประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่ชำระหนี้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อในระบบพันธสัญญากับบริษัทสหฟาร์ม จำนวน 497 ราย ใน 18 จังหวัด ยอดหนี้ประมาณ 332 ล้านบาท
ในกรณีนี้เกษตรกรไม่ได้รับหนังสือสัญญาทันที ทำให้ไม่ทราบในรายละเอียดของสัญญาว่าเป็นอย่างไร บริษัทสร้างความเชื่อมั่นโดยการพาไปดูงานฟาร์มที่ประสบความสำเร็จ และบริษัทให้คำมั่นกับเกษตรกรว่าจะคืนทุนภายใน 3 ปี ทำให้เกษตรคิดว่าจะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าและมีรายได้ดี จึงตกลงใจเข้าร่วมธุรกิจกับบริษัทสหฟาร์ม เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ใช้หลักทรัพย์กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจำนวน 2-3 ล้านบาท มาลงทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ 1-2 หมื่นตัวในระบบฟาร์มปิด จนกระทั่งโรงเรือนสร้างเสร็จแล้วเกษตรกรถึงได้รับหนังสือสัญญา และเมื่อศึกษารายละเอียดในสัญญากลับพบว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น ให้สิทธิบริษัทบอกเลิกสัญญาโดยเกษตรกรไม่ได้ผิดสัญญาในสาระสำคัญ และเกษตรไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใดๆจากทางบริษัท ในทางกลับกันหากเกษตรกรบอกเลิกสัญญา เกษตรกรมีหน้าที่รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดให้กับบริษัท ทำให้เกษตรไม่กล้าบอกเลิกสัญญาเพราะลงทุนไปแล้ว และกลัวถูกฟ้อง
หรือในกรณีของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฟังว่า หลังจากเซ็นชื่อในสัญญาแล้วก็ไม่เคยเห็นหนังสือสัญญาอีกเลย เนื่องจากบริษัทเก็บหนังสือสัญญาไว้ ในช่วงแรกๆมีรายได้ดี ต่อมาทางบริษัทให้ปรับปรุงโรงเรือนเป็นระบบปิด พอเริ่มจะใช้หนี้หมด บริษัทก็ให้ปรับปรุงโรงเรือนอีก กระทั่งประสบปัญหาการขาดทุน แม้นขายที่ดินทำกินไป ก็ยังใช้หนี้ไม่หมด เพราะลงทุนไปมาก
เกษตรพันธสัญญาทำให้เงินลงทุนสูงขึ้น เกิดความเสี่ยงในการลงทุน
การทำเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา ต้องพัฒนาทั้งรูปแบบการเลี้ยง ระบบการจัดการ ที่เป็นมาตรฐานสากล มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ ทำให้เงินลงทุนต่อฟาร์มค่อนข้างสูง เนื่องจากระบบเกษตรพันธสัญญา เกษตรกรต้องลงทุนเองเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่แหล่งเงินทุนของเกษตรกรมาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน บางกรณีมีลักษณะเป็นการปล่อยสินเชื่อและเอาที่ดินของเกษตรกรมาเป็นหลักประกัน เป็นการสร้างภาระหนี้สินให้เกษตรกร เกษตรกรต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงต่อเดือน และการคืนทุนต้องใช้เวลานานหลายปี หากบริษัทบอกเลิกสัญญากับเกษตรกร เกษตรกรจะประสบกับภาวะการขาดทุนอย่างหนัก
มีการกำหนดราคารับซื้อในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมแก่เกษตรกร บริษัทมักจะเสนอรายได้ที่สูงเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกร โดยไม่เสนอข้อมูลที่เป็นต้นทุนให้กับเกษตรกร หรือบริษัทไม่ได้นำ “ต้นทุนแอบแฝง” เช่น ค่าแรงของเกษตรกร ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ เข้ามาคำนวณเป็น “ต้นทุนการผลิตที่แท้จริง” ในสัญญา และเกษตรกรก็ไม่ได้ตะหนักถึงต้นทุนแอบแฝงนี้เช่นกัน ทำให้เกษตรกรได้รับค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า ส่งผลให้เกษตรจำนวนมากประสบภาวะการขาดทุน มีหนี้สิน และต้องสูญเสียที่ดินทำกิน
นอกจากนี้สัญญาที่มีเงื่อนไขการผลิตที่ละเอียด ยุ่งยาก และซับซ้อน ทำให้เกษตรมีความเสี่ยงเนื่องจากการไม่สามารถทำตามมาตรฐานการผลิต ทำให้บริษัทปฏิเสธการรับซื้อผลผลิตหรือตัดราคารับซื้อลง ส่งผลให้เกษตรกรประสบภาวะการขาดทุน และมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการทำการเกษตรพันธสัญญา
เกษตรกรรับความเสี่ยงแต่เพียงฝ่ายเดียว
เกษตรกรมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมซึ่งร่างโดยบริษัทเพียงฝ่ายเดียว โดยเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง ผลักภาระให้เกษตรกรแบกรับความเสี่ยงเพียงฝ่ายเดียว เช่น เมื่อได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือเมื่อเกิดโรคระบาด หรือความผันผวนของราคาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต และในสัญญาไม่มีการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกร คุ้มครองสิทธิเฉพาะบริษัท ไม่มีบทลงโทษบริษัทในกรณีที่บริษัทเป็นฝ่ายผิดสัญญา ถ้าบริษัทยกเลิกสัญญา ทิ้งฟาร์มเกษตรกรไป เกษตรกรจะไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายได้
เกษตรกรกลายเป็นแรงงานในระบบเกษตรพันธสัญญา
ในมุมมองของนักสิทธิมนุษยชน เกษตรพันธสัญญาเป็นระบบเกษตรที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของเกษตรกร บั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความไม่เท่าเทียมกัน ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ในระบบเกษตรพันธสัญญา บริษัทคู่สัญญาเข้ามาควบคุมการผลิตในทุกกระบวนการ กำหนดให้เกษตรดำเนินการในเรื่องต่างๆอย่างเคร่งครัด เกษตรกรต้องรับผิดชอบการควบคุมผลผลิตให้ได้คุณภาพและปริมาณตรงตามที่กำหนดในสัญญา ส่งผลให้เกษตรกลายสภาพเป็นเพียงแรงงานในที่ดินของตนเองภายใต้การควบคุมของนายทุน ทำให้เกษตรกรรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจ เกษตรกรต้องประสบปัญหาทางจิตใจ ปัญหาซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่เครียด เวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ และความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน
การกำหนดราคาผลผลิต ปัจจัยการผลิต ถูกผูกขาดโดยบริษัท
บริษัทผูกขาดปัจจัยการผลิต เกษตรกรถูกบังคับให้ซื้อปัจจัยการผลิตจากบริษัทแต่เพียงเจ้าเดียว เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อาหาร ยา ปุ๋ย อุปกรณ์ และเครื่องจักรต่างๆที่ใช้ในการผลิต ซึ่งบริษัทเป็นผู้กำหนดตารางเวลาและปริมาณในการใช้ทั้งหมด กำหนดข้อห้ามหรือข้อจำกัดการใช้เมล็ดพันธุ์ รวมทั้งการกำหนดราคารับซื้อผลผลิต และห้ามเกษตรกรขายผลผลิตให้แก่ผู้อื่น โดยที่เกษตรไม่รู้ต้นทุนและคุณภาพของปัจจัยการผลิตเลย เนื่องจากบริษัทมีอำนาจในการบังคับซื้อขายใน “ราคา” และ “มาตรฐาน” ที่บริษัทตั้งเอาไว้ และผูกขาด “ความรู้” ในมาตรฐานเชิงเทคนิคเอาไว้กับตัวเอง ทำให้เกษตรไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องผลตอบแทน
บริษัทที่ไม่ซื่อสัตย์มักใช้วิธีการเพื่อปฏิเสธการรับซื้อผลผลิตหรือตัดราคาลง
บริษัทบังคับให้เกษตรกรต้องรับ เมล็ดพันธุ์และปัจจัยการผลิต สารเคมี เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ต้องนำมาใช้ในการผลิต ที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ในกรณีของบริษัทสหฟาร์มที่เกิดข้อพิพาทกับเกษตรผู้เลี้ยงไก่เนื้อเมื่อปี 2557 ในช่วงแรกบริษัทส่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีมาให้เกษตรกร ต่อมาเริ่มส่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพต่ำลงมาให้ ทำให้ลูกไก่โตช้า ในการส่งมอบไก่ บริษัทมักเลื่อนวันมารับไก่ให้ช้ากว่ากำหนด โดยอ้างเหตุผลว่าเกินความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรต้องจ่ายค่าอาหารเพื่อเลี้ยงไก่ต่อ เมื่อถึงวันที่บริษัทมารับไก่ บริษัทกลับอ้างว่าไก่ไม่ได้มาตรฐานตามที่ระบุไว้ตามสัญญา จึงรับซื้อไก่ไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาประกันในสัญญา ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด (รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด 2557)
ความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เกษตรกรต้องเผชิญความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพ อันเนื่องมาจากการใช้ปัจจัยการผลิตหรือกระบวนการผลิตภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทกำหนด บริษัทอาจเลือกใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ไม่เหมาะสมเพื่อกำไรสูงสุดของบริษัท โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เช่น จากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลง ในชนิดและปริมาณที่กำหนดโดยบริษัท ในการใช้สารเคมีบางชนิด เกษตรกรไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้และวิธีการที่ถูกต้อง การปกป้องตนเอง ส่งผลต่อปัญหาในเรื่องสุขภาพของเกษตรกร และปัญหาสารพิษตกค้างในผลิตผลการเกษตร
กระบวนการผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เช่น กลิ่นจากการถ่ายมูลของไก่หรือหมูในฟาร์มที่ส่งกลิ่นรบกวน จนกลายเป็นชนวนเหตุความขัดแย้งในหลายชุมชน หรือในกรณีการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยวิธีการเผา เพราะเห็นว่าประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา ทำให้เกษตรกรผู้เพราะปลูกข้าวโพดกลายเป็นจำเลยของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในหลายกรณีพบว่ากลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนให้เกษตรกรรุกเข้าไปทำเกษตรพันธสัญญาในพื้นที่ป่าสงวน หรือทรัพยากรสาธารณะ เช่น การรุกเขาปลูกข้าวโพดและอ้อย การยึดลำน้ำเพื่อเลี้ยงปลาในกระชัง และเมื่อเกิดปัญหา บริษัทก็ไม่ได้เข้ามารับผิดชอบด้วย ปล่อยให้เกษตรกรรับผิดไป โดยปราศจากความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนในการแก้ปัญหา
ที่ผ่านมาระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ได้รับการสนับและส่งเสริมจากภาครัฐโดยให้ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (2530-2534) ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนระบบเกษตรพันธสัญญา ภายใต้ “โครงการสี่ประสาน” โดยรัฐได้ดำเนินแผนประสานความร่วมมือสี่ภาค (รัฐบาล เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร) มีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตของเกษตรกร เน้นการปรับระบบการผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกโดยให้ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ที่ผ่านมารัฐก็ไม่ได้เข้ามามีบทบาทเสริมอำนาจต่อรองให้เกษตรกร หรือแก้ไขข้อสัญญาหรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรโดนการเอารัดเอาเปรียบจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่ฝ่ายเดียว เนื่องด้วยผู้ประกอบธุรกิจอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าทั้ง ภาพลักษณ์ ทุน ความรู้ และความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ เกษตรกรต้องอยู่ในภาวะจำยอม เมื่อมีปัญหาก็ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว และรัฐก็มิได้เข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความเป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
จากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา มีข้อเสนอแนะจาก เกษตรกร นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชน ในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตร อาทิ เช่น
เกษตรพันธสัญญาเหมาะสำหรับเกษตรกรรายใหญ่
การทำเกษตรพันธสัญญาที่ประสบความสำเร็จในไทย ส่วนใหญ่เป็นคู่สัญญาระหว่างเกษตรกรรายใหญ่กับบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งทั้งคู่สามารถเลือกคู่สัญญาตามที่ตนต้องการได้ง่าย เกษตรกรรายใหญ่มีพื้นที่ทำการเกษตรมาก ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง และเกษตรกรรายใหญ่มีเงินลงทุนเพียงพอหรือหาแหล่งเงินทุนได้ง่าย สามารถลงทุนในระบบการเลี้ยงที่ทันสมัยได้ และปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆได้ครบถ้วน สามารถให้ผลผลิตตรงตามมาตรฐานของบริษัทคู่สัญญา และเกษตรกรรายใหญ่ส่วนใหญ่มีความรู้ ความเข้าใจในสัญญา รู้ข้อกฏหมายดี จึงสามารถทำธุรกิจร่วมกันได้ดี ไม่ค่อยมีปัญหาสำหรับคู่สัญญากลุ่มนี้
ส่วนเกษตรกรรายย่อยจะมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน จึงไม่สามารถลงทุนในการจัดการฟาร์มที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งใช้เงินลงทุนสูง จึงมักไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมในเกษตรพันธสัญญากับบริษัทใหญ่ เกษตรกรรายย่อยจึงมีทางเลือกไม่มากนัก ไปทำเกษตรพันธสัญญากับบริษัทเล็ก ซึ่งมาพร้อมความเสี่ยงจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และหากมีการบริหารจัดการที่ไม่ดีพอ ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยอาจประสบกับการขาดทุนและมีหนี้สินตามมา
รวมกลุ่มเกษตรกร ทางออกของเกษตรกรรายย่อย
แนวทางช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา คือ ควรมีการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีความพร้อมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเงินทุน ให้มาอยู่ในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจในการต่อรองของเกษตรกรรายย่อย อีกทั้งการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ยังก่อให้ประโยชน์หลายๆอย่าง ได้แก่ การสร้างความสามัคคีในกลุ่ม การประหยัดจากขนาด การแบ่งงานกันทำ และเกิดความชำนาญเฉพาะด้านขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกจากนี้การรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์จะได้ประโยชน์จากการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และประการสำคัญคือช่วยแก้ปัญหาในเรื่องเงินทุน โดยการระดมทุนและการกู้ยืมจะทำได้ง่ายขึ้น ทำให้มีเงินลงทุนเพียงพอในการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาใช้ในกลุ่ม และมีโอกาสในการเลือกคู่สัญญาที่เหมาะสมได้ตามต้องการ โดยเฉพาะการเป็นคู่สัญญากับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่แบบครบวงจร
สัญญาควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ควรมีการสร้างสัญญาร่วมกันระหว่างบริษัทกับเกษตรกร ในการสร้างสัญญาควรดำเนินการโดยสุจริต เป็นธรรมและโปร่งใส ประกอบด้วยขั้นตอนการเจรจา การแลกเปลี่ยนข้อมูล การนำเสนอของผู้ประกอบการ ซึ่งในขั้นตอนนี้ ควรให้เวลาเกษตรกรหลายวันในการพิจารณาและทำความเข้าใจข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆในสัญญา เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ซักถามข้อสงสัย ให้เกษตรกรสามารถเจรจาต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงบางส่วนในสัญญาได้ การลงนามในสัญญาควรเกิดขึ้นหลังจากข้อตกลงฉบับเต็มในครบทุกเงื่อนไขแล้ว และขั้นตอนการเจรจาเสร็จสมบูรณ์
ควรมีการกำหนดรูปแบบสัญญาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกบริษัท เนื้อหาสัญญาจะต้องเฉลี่ยความเสี่ยงระหว่างบริษัทและเกษตรกร และต้องมีคนกลางเข้ามาดูแลในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบบเกษตรพันธสัญญา
โครงสร้างในระบบเกษตรพันธสัญญายังขาดความสมดุลและไม่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรอยู่ในภาวะจำยอมเนื่องจากขาดอำนาจต่อรองกับบริษัท บริษัทจะสร้างสัญญาสำเร็จรูปในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบเกษตรกร ผลักภาระความเสี่ยงไปให้แก่เกษตรกรหลายรูปแบบ ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากประสบภาวะขาดทุน เป็นหนี้สินจากการพึ่งพิงระบบเกษตรพันธสัญญา ความรุนแรงและความซับซ้อนของปัญหาทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาขึ้นหลายกรณี สาเหตุสำคัญมาจากการไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะนำมาบังคับใช้กับระบบเกษตรพันธสัญญา และไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแลให้เกิดความเป็นธรรม
จากปัญหาสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ควรมีหน่วยงานรัฐมากํากับดูแลให้การทําสัญญาระหว่างเกษตรกรกับบริษัทธุรกิจการเกษตรมีความเป็นธรรม โดยการกำหนดบทบัญญัติกฎหมายเฉพาะสำหรับนำมาบังคับใช้กับระบบเกษตรพันธสัญญา รัฐบาลมีการตรวจสอบสัญญาเพื่อให้แน่ใจว่าข้อกำหนดและเงื่อนไขในหนังสือสัญญาอยู่ในกรอบตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญา
Lindsey Stirling – Underground (YouTube)
ในส่วนของรัฐบาล ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐในการพยุงราคาสินค้าเกษตรกรรมโดยการใช้งบประมาณจํานวนนบแสนล้านบาท ตลอดจนช่วยเพิ่มโอกาสการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม และลดการย้ายถิ่นจากชนบทสู่เขตเมือง ในขณะที่รัฐส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรภายใต้แนวทางประชารัฐ โดยภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริม
โครงสร้างในระบบเกษตรพันธสัญญาในอดีตที่ผ่านมายังขาดความสมดุลและไม่เป็นธรรม เกษตรกรขาดอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบธุรกิจ จึงอยู่ในภาวะจำยอม และไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อบังคับใช้กับการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา จึงทำให้เกิดประเด็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาพันธสัญญาจำนวนมาก
จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2558 มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญในการจะผลักดันกฎหมายแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบที่เกิดขึ้นในระบบเกษตรพันธสัญญา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชานจัดทำและเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองเกษตรพันธสัญญา” ต่อประธาน สนช. ต่อมาในวันที่ 27 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติผ่าน “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญาที่เป็นธรรม” ซึ่งเป็นร่างที่จัดทำโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 “พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560 วัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาท ความไม่เท่าเทียมด้านข้อมูล ความไม่เท่าเทียมด้านรับความเสี่ยง ความไม่เท่าเทียมด้านการแบ่งปันผลประโยชน์ ความไม่เท่าเทียมด้านการบังคับใช้กฎหมาย และปัญหาเกษตรกรขาดศักยภาพในการผลิต ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคเกษตรและเศรษฐกิจ
ปัจจุบันรัฐบาลไทยภายใต้การบริหารงานของ พลเอกประยทธ์ จันทร์โอชา กำลังส่งเสริมให้มีการขยายตัวของธุรกิจการเกษตรในรูปแบบของเกษตรพันธสัญญาข้ามชาติไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ภาพงานประชุมนานาชาติ Mekong Hub Knowledge and Learning Fair 2019 จัดโดยกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร มกอช. อ.ส.ค. ธ.ก.ส. และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ฯ (efinancethai.com)
พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ 2560
พ.ร.บ เกษตรพันธสัญญาฯ พ.ศ. 2560 ถือเป็นกฎหมายใหม่ที่ผลักดันสำเร็จในสมัยรัฐบาลสมัย “คสช.” เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญา และเป็นกลไกในการส่งเสริมพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีประสิทธิภาพ โดยกฎหมายใหม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขสัญญาให้เป็นธรรมมากขึ้น และคุ้มครองคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ช่วยให้เกษตรกรกับเอกชนได้ผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม การทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบจะหมดไป ลดโอกาสเกิดข้อพิพาทขัดแย้งเป็นคดีในชั้นศาล
โดยเกษตรกรจะได้รับประโยชน์หลายประการคือ สามารถตรวจสอบทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจากกระทรวงเกษตรฯ ได้ก่อนทำสัญญา พ.ร.บ. ยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องจัดส่งเอกสารสำหรับการชี้ชวนและร่างสัญญาให้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลและรายละเอียดสำคัญที่จำเป็นก่อนตัดสินใจทำสัญญา
นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องจัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวนให้กระทรวงเกษตรฯ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรในการทำสัญญาและป้องกันการโฆษณาชวนเชื่อและชี้ชวนเกินจริง ในหนังสือสัญญาต้องกำหนดระยะเวลาการทำสัญญาให้สอดคล้องกับระยะเวลาคืนทุน ระบุวิธีการคำนวณราคาวัตถุดิบและผลผลิต และใช้ราคา ณ วัน เวลา วันและสถานที่ใดในการส่งมอบ ข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัย ใครเป็นผู้รับความเสี่ยงภัย การเยียวยาความเสียหาย สิทธิการบอกเลิกสัญญา และที่สำคัญ คือ ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจะไม่สามารถใช้บังคับได้
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญาฯ มีดังต่อไปนี้
สาระสำคัญเกี่ยวกับการแจ้งจดทะเบียนของผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตร
(1) กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาหรือเลิกประกอบธุรกิจ ต้องแจ้งต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯล่วงหน้าในเวลาที่กำหนด และการเลิกประกอบธุรกิจไม่มีผลให้สัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาสิ้นสุดลง
(2) ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องจัดทำเอกสารการชี้ชวนและร่างหนังสือสัญญาให้เกษตรกรทราบล่วงหน้า โดยมีรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งส่งสำเนาเอกสารมาที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯเพื่อตรวจสอบ
(3) ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องส่งมอบหนังสือสัญญาให้เกษตรกรในวันทำสัญญา
สาระสำคัญเกี่ยวกับรายละเอียดในสัญญา
(1) ในกรณีที่สัญญาไม่มีรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด ให้สิทธิเกษตรกรสามารถเพิ่มความในสัญญาให้ครบถ้วนได้ หรือสามารถบอกเลิกสัญญาได้
(2) ข้อตกลงและเงื่อนไขในสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีผลบังคับใช้
(3) หากสัญญาที่ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรจัดทำไม่เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด ให้สัญญาส่วนนั้นไม่มีผลบังคับใช้
(4) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรแบ่งสัญญา หรือกระทำการอื่นใดเพื่อให้การทำสัญญาไม่เข้าลักษณะของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาตาม พ.ร.ก กรณีที่มีการฝ่าฝืน ให้ถือว่าสัญญานั้นเป็นสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา
(5) การบอกเลิกสัญญา ด้วยเหตุของสภาพพื้นที่ที่ทำการผลิต หรือภาวะตลาดของผลิตผลทางการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเงินชดเชย
ให้ข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้ ไม่มีผลบังคับใช้
(1) ข้อตกลงที่ให้เกษตรต้องรับมอบพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ อาหาร ยา และปัจจัยการผลิต สารเคมี เครื่องมือ และอุปกรณ์ หรือสิ่งที่ต้องนำมาใช้ในการผลิต หรือบริการทางการเกษตรใดๆ ที่ไม่มีคุณภาพ
(2) ข้อตกลงที่ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประการธุรกิจทางการเกษตรต่อเกษตรกร ในความชำรุดบกพร่องที่ผู้ประกอบการธุรกิจเป็นผู้จัดหา
(3) ข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่กำหนดให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆของเกษตรกร ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ ภายหลังการบอกเลิกสัญญาหรือในกรณีที่ผิดสัญญา
(4) ข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่ให้เกษตรกรต้องรับผิดในสัญญา แม้นเกิดเหตุสุดวิสัยหรือสาธารณภัยที่ไม่อาจจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้
(5) ข้อตกลงที่ให้สิทธิผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรบอกเลิกสัญญา โดยเกษตรกรไม่ได้ทำผิดสัญญาในสาระสำคัญ
(6) ข้อตกลงที่เรียกหรือกำหนดให้เกษตรกร ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่กำหนดไว้ในสัญญา
(7) ข้อตกลงที่กำหนดให้ต้องนำเงินชดเชยที่เกษตรกรได้รับจากทางราชการหรือค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตร
(8) ข้อตกลงที่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรเพียงฝ่ายเดียว ที่สามารถเปลี่ยนแปลงราคาวัตถุดิบในการผลิต หรือบริการทางการเกษตร หรือค่าตอบแทนในการผลิต
(9) ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้เกษตรกรต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
รายละเอียดของเอกสารสำหรับชี้ชวน
(1) ข้อมูลทางพาณิชย์หรือข้อมูลอื่นใดอันเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตร ที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา
(2) ข้อมูลแผนการผลิต เงินลงทุน คุณภาพ ตลอดจนจำนวนหรือปริมาณของการผลิตผลิตผล หรือบริการทางการเกษตรที่จะทำการผลิตผลิตผลหรือบริการตามสัญญา ระยะทางที่เหมาะสมในการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร ประมาณระยะเวลาคืนทุน ความคุ้มค่าในการผลิต และภาระความเสี่ยงที่อาจต้องแยกความรับผิดชอบหรือรับผิดชอบด้วยกัน
(3) ข้อมูลที่จำเป็นในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องตามสัญญา และให้รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานของพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ อาหาร ยา ปัจจัยการผลิต สารเคมี เครื่องมืออุปกรณ์ หรือสิ่งที่ต้องนำมาใช้ในการผลิต หรือบริการทางการเกษตร ตามสัญญานั้นจะต้องมีคุณภาพและมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
(4) ข้อมูลอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
รายละเอียดของสัญญา
สัญญาต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ชื่อคู่สัญญา สถานที่ติดต่อระหว่างคู่สัญญา และวันที่ทำสัญญา
(2) วัตถุประสงค์ของสัญญา โดยระบุลักษณะหรือประเภทของการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร และคุณภาพของผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร
(3) ระยะเวลาในการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับระยะเวลาในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร หรือประมาณการระยะเวลาคืนทุน
(4) รายละเอียดของสถานที่ผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร โดยระบุขนาดพื้นที่และที่ตั้งของสถานที่
(5) หน้าที่ของคู่สัญญา
(6) ราคาและวิธีการคำนวณราคาวัตถุดิบและผลิตผลทางการเกษตร หากมีการกำหนดราคาโดยอ้างอิงจากราคาตลาด ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าราคาตลาดนั้นจะกำหนด อย่างไร และใช้ราคาตลาด ณ เวลาใด
(7) วันและสถานที่ ในการส่งมอบผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร และการชำระเงิน โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าให้ชำระเงินก่อนการส่งมอบ หรือในวันส่งมอบ หรือภายในกี่วันนับแต่วันส่งมอบ
(8) เหตุยกเว้นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาในกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย หรือเกิดสถาณการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์หรือไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และอยู่นอกเหนือการควบคุมของคู่สัญญา
(9) กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ว่าเป็นของคู่สัญญาฝ่ายใด
(10) ผู้รับความเสี่ยงในผลิตผลทางการเกษตร และความเสี่ยงทางการค้า ในกรณีที่ผลิตผลทางการเกษตรไม่สามารถจำหน่ายได้ตามราคาที่กำหนดไว้
(11) การเยียวยาความเสียหายจากการทำผิดสัญญา
(12) สิทธิในการบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญา
(13) รายละเอียดอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
(1) กำหนดให้มีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ประจำจังหวัดและกทม. ทำหน้าที่พิจารณาข้อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากสัญญาที่เกิดขึ้นในพื้นที่
(2) เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คู่สัญญาทั้งสองต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อน จึงจะมีสิทธินำข้อพิพาทไปสู่อนุญาโตตุลาการหรือนำคดีไปสู่ศาล
(3) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 20 วันนับแต่วันที่ประธานรับคำร้อง และขยายได้อีกไม่เกิน 10 วัน
(4) กรณีที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน
(5) กรณีที่ตกลงกันไม่ได้ ให้สั่งจำหน่ายข้อพิพาทนั้น
(6) กรณีที่เกษตรกรร้องขอให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มีหนังสือแจ้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดำเนินการ
บทกำหนดลงโทษ
(1) กำหนดโทษปรับสำหรับผู้ประกอบการธุกิจทางการเกษตร ซึ่งไม่แจ้งการประกอบธุรกิจ และไม่แจ้งการยกเลิกการประกอบธุรกิจ หรือไม่จัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนก่อนการทำสัญญา (ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท)
(2) กำหนดโทษปรับสำหรับคู่สัญญา ซึ่งชะลอ ระงับ หรือยุติ การปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายได้รับความเสียหาย หรือผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรไม่ส่งมอบสัญญาในวันทำสัญญา หรือแบ่งสัญญาเพื่อไม่ให้เข้าลักษณะของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา (ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และอีกไม่เกินวันละ 5 พันบาทตลอดการฝ่าฝืน)
(3) กำหนดให้ผู้ประกอบการธุกิจทางการเกษตร ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย กรณีเกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพของประชาชน อันเนื่องมาจากการใช้ปัจจัยการผลิตหรือกระบวนการผลิต ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรกำหนด เว้นแต่พิสูจน์ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือความผิดของเกษตรกร
ภายหลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ 2560 อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 มีบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ 225 ราย ประกอบด้วย ด้านพืช 160 ราย ด้านปศุสัตว์ 39 ราย ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 11 ราย ด้านปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1 ราย และมีส่วนที่อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารหลักฐาน 11 ราย มีประเภทสัญญาครอบคลุมสัญญาทุกประเภท อาทิ สัญญญาจ้างเลี้ยง สัญญาประกันราคา สัญญาซื้อขายผลผลิตและปัจจัยการผลิต ส่งเสริมการปลูกพืช สัญญาการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ สัญญาการผลิตเมล็ดพันธุ์ สัญญาว่าจ้าง ฯลฯ
กฎหมายฉบับนี้ยังต้องมีการปรับปรุง
ปัจจุบันแม้นเกษตรกรจะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มุ่งคุ้มครองเกษตรกรซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา และช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบเกินควร โดยภาพรวมเกษตรกรจะได้การคุ้มครองมากขึ้น แต่ทั้งภาคผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตร ภาคเกษตรกร และนักกฎหมายมีความเห็นว่า กฎหมายเกษตรพันธสัญญาฉบับนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกรได้ทั้งหมด อาทิ
กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ควบคุมลงลึกถึงรายละเอียดการทำสัญญา ยังเปิดช่องโหว่ที่ผู้ประกอบการสามารถจะเอาเปรียบเกษตรกรได้
กฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาทุกสัญญา เนื่องจาก พ.ร.บ. กำหนดขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เฉพาะกับระบบการผลิตหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาระหว่าง “ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตร” และ “บุคคลธรรมดาที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม” ตั้งแต่ 10 ราย ขึ้นไป หรือกับสหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน
การกำหนดจำนวนแบบนี้ เป็นการเปิดช่องโหว่งให้ผู้ประกอบการสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมาย ไม่ต้องขึ้นทะเบียนในระบบเกษตรพันธสัญญา ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการทำสัญญากับเกษตรกรฟาร์มเลี้ยงหมู 1 ราย ให้เลี้ยงหมู 5,000 ตัว ก็ไม่ต้องไปขึ้นทะเบียน ในขณะที่อีกผู้ประกอบการหนึ่งไปทำสัญญากับเกษตรกร 10 ราย แต่ละรายให้เลี้ยงหมู 500 ตัว ต้องไปขึ้นทะเบียนอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ สร้างความสับสนต่อเกษตรกรเพราะไม่เห็นด้วย ควรมีการขึ้นทะเบียนอยู่ภายใต้กฎหมายทุกสัญญา
บทลงโทษตามกฎหมายใหม่นี้ มีโทษทางอาญา แต่เป็นโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท ยกตัวอย่างในกรณีของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เกษตรกรลงทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ 2-3 ล้านบาท แต่กฎหมายลงโทษปรับสูงสุดเพียง 3 แสนบาท ไม่ครอบคลุมความเสียหายจากการลงทุนของเกษตรกร หากเกิดกรณีพิพาทตกลงกันไม่ได้
กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายในจังหวัด ไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาเวลามีกรณีพิพาทเจ้าหน้าที่รัฐมักร่วมมือกับนายทุน และเกษตรกรมีความเกรงกลัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐและอิทธิพลของนายทุน ไม่กล้าโต้แย้ง ทำให้เกษตรกรต้องยอมรับสภาพหนี้สิน ควรเป็นอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายทำหน้าที่เป็นประธานในการไกล่เกลี่ย
ไม่ว่าฝ่ายไหนจะว่าดีหรือไม่ดี สำหรับผู้เขียน อ่านและศึกษาเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกหนักใจและอึดอัดใจแทนเกษตรกร ต้องถอนหายใจเป็นระยะๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้ Music videos ที่ปรากฎในบทความนี้ เป็นตัวแทนของความความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้เขียนที่มีต่อระบบเกษตร Contract Farming
Lindsey Stirling – Shatter Me Featuring Lzzy Hale (YouTube)