A Brief History of Time, Universe
ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History Of Time) โดย สตีเฟน ฮอว์คิง#53 บทที่ 8 กำเนิดและชะตากรรมของจักรวาล : การกำเนิดและวงจรชีวิตของดาวฤกษ์
จักรวาลโดยรวมจะขยายตัวและเย็นลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในบริเวณที่มีความหนาแน่นมากกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย การขยายตัวจะช้าลงด้วยแรงดึงดูดของแรงโน้มถ่วงที่เพิ่มขึ้น บางพื้นที่หยุดการขยายตัวและเริ่มยุบตัว ขณะที่กำลังยุบตัว แรงดึงดูดของแรงโน้มถ่วงอาจทำให้สสารเริ่มหมุนเล็กน้อย เมื่อพื้นที่ที่ยุบตัวมีขนาดเล็กลง มันจะหมุนเร็วขึ้น เช่นเดียวกับที่นักสเก็ตหมุนบนน้ำแข็งที่หมุนตัวเร็วขึ้นขณะดึงแขน ในที่สุด เมื่อพื้นที่มีขนาดเล็กพอ มันจะหมุนเร็วพอที่จะสร้างสมดุลของแรงดึงดูดของแรงโน้มถ่วง และด้วยวิธีนี้ กาแล็กซีที่หมุน (rotating galaxies) คล้ายแผ่นดิสก์จึงถือกำเนิดขึ้น ส่วนบริเวณอื่นๆ ซึ่งไม่มีการหมุนก็จะกลายเป็นวัตถุรูปวงรีที่เรียกว่า กาแล็กซี่วงรี (elliptical galaxies) ในบริเวณนี้จะหยุดยุบตัวเนื่องจากส่วนต่างๆ ของกาแล็กซี่จะโคจรรอบศูนย์กลางอย่างเสถียร
เมื่อเวลาผ่านไป ก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียมในกาแล็กซี่จะก่อตัวเป็นเมฆขนาดเล็กซึ่งจะยุบตัวลงภายใต้แรงโน้มถ่วงของพวกมันเอง ขณะที่เมฆหดตัว อะตอมของก๊าซจะชนกัน ทำให้อุณหภูมิของก๊าซเพิ่มขึ้น จนกระทั่งในที่สุดมันก็ร้อนพอที่จะเริ่มปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (nuclear fusion reactions) ซึ่งจะเปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นฮีเลียมมากขึ้น และความร้อนที่ปล่อยออกมาจะเพิ่มแรงดันออกไปด้านนอก และทำให้เมฆไม่หดตัวอีกต่อไป พวกมันจะยังคงเสถียรในสถานะนี้เป็นเวลานานเช่นเดียวกับดาวฤกษ์อย่างดวงอาทิตย์ของเรา เผาไฮโดรเจนเป็นฮีเลียมและแผ่พลังงานที่ได้ออกมาเป็นความร้อนและแสง
ดาวมวลมากจะร้อนขึ้นเพื่อสร้างสมดุลกับแรงดึงดูดของแรงโน้มถ่วงที่แรงกว่า ทำให้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก จนพวกมันใช้ไฮโดรเจนหมดในเวลาเพียงร้อยล้านปี จากนั้นพวกมันจะหดตัวเล็กน้อยและเมื่อร้อนขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเริ่มเปลี่ยนฮีเลียมเป็นธาตุที่หนักกว่า เช่น คาร์บอนหรือออกซิเจน อย่างไรก็ตาม มันจะไม่ปล่อยพลังงานออกมามากนัก ดังนั้นวิกฤตจะเกิดขึ้น ดังที่อธิบายไว้ในบทเกี่ยวกับหลุมดำ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปนั้นไม่ชัดเจนนัก แต่ดูเหมือนว่าบริเวณใจกลางของดาวจะยุบตัวเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำที่มีความหนาแน่นมาก
บริเวณรอบนอกของดาวฤกษ์สามารถระเบิดออกเป็นการระเบิดขนาดมหึมาที่เรียกว่า ซุปเปอร์โนวา (supernova) ซึ่งมีความสว่างมากกว่าความสว่างของดาวทั้งหมดในกาแล็กซี่ของมัน ธาตุที่หนักกว่าบางส่วนที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อดาวฤกษ์ใกล้สิ้นสุดอายุขัย จะถูกโยนกลับเข้าไปในก๊าซในกาแล็กซี่ และเป็นวัตถุดิบบางส่วนสำหรับดาวฤกษ์รุ่นต่อไป
ดวงอาทิตย์ของเรามีองค์ประกอบที่หนักประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นดาวฤกษ์รุ่นที่สองหรือสาม ก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณห้าพันล้านปีก่อน จากกลุ่มก๊าซที่หมุนรอบตัวซึ่งมีเศษซากของซุปเปอร์โนวารุ่นก่อนๆ ก๊าซส่วนใหญ่ในเมฆนั้นไปก่อตัวเป็นดวงอาทิตย์หรือปลิวไป แต่มีองค์ประกอบที่หนักกว่าจำนวนเล็กน้อยรวมตัวกันเพื่อสร้างวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นดาวเคราะห์เหมือนโลก
Bastille – Revolution
การกำเนิดและวงจรชีวิตของดาวฤกษ์
นักวิทยาศาสตร์พูดถึงวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ เมื่อพูดถึงการกำเนิดชีวิตและการตายของดวงดาว อายุของดาวฤกษ์แต่ละดวงนั้นยาวนานเกินกว่าที่มนุษย์จะสังเกตเห็นวิวัฒนาการของดาวดวงเดียวได้ นักวิทยาศาสตร์ศึกษาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ได้อย่างไร? สิ่งนี้เป็นไปได้ เนื่องจากมีดาวจำนวนมากในกาแล็กซี่ของเรา ดังนั้นเราจึงสามารถเห็นพวกมันจำนวนมากในช่วงต่างๆ ของชีวิต ด้วยวิธีนี้นักดาราศาสตร์สามารถสร้างภาพรวมของกระบวนการวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ได้ ในบทความนี้จะอธิบายว่าดวงดาวเกิดมาอย่างไร? วิวัฒนาการอย่างไร? และตายอย่างไร?
ขั้นตอนที่ 1: เนบิวลา สถานที่กำเนิดดวงดาว
ภาพแสดงเนบิวลาชนิดต่างๆ
เนบิวลา (Nebula) เป็นกลุ่มเมฆฝุ่นและก๊าซขนาดมหึมาที่ครอบครองพื้นที่ว่างระหว่างดวงดาว เมื่อเราใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดู จะเห็นเป็นก้อนหมอกเมฆขนาดใหญ่ที่เปร่งแสงสีสวยงามที่ปะปนอยู่ในกลุ่มดวงดาว องค์ประกอบหลักของเนบิวลาคือก๊าซไฮโดรเจน เนบิวลาส่วนใหญ่มีขนาดกว้างใหญ่ บางชนิดมีเส้นผ่านศูนย์กลางหลายร้อยปีแสง
เนบิวลามีกลไกการก่อตัวที่หลากหลาย เนบิวลาบางชนิดก่อตัวจากก๊าซที่มีอยู่แล้วในตัวกลางระหว่างดวงดาว เนบิวลาบางชนิดมาจากก๊าซและฝุ่นละอองที่เกิดจากการระเบิดของดาวฤกษ์ที่กำลังจะตายที่เรียกว่า ซูเปอร์โนวา (Supernova) เนบิวล่าอื่นๆ เป็นบริเวณที่ดาวดวงใหม่เริ่มก่อตัว ด้วยเหตุนี้เนบิวล่าบางชนิดจึงถูกเรียกว่า “สถานอนุบาลดวงดาว”
เนบิวล่าประกอบด้วยฝุ่นและก๊าซซึ่งส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจน ฝุ่นและก๊าซในเนบิวลากระจายออกไปเป็นบริเวณกว้าง แต่แรงโน้มถ่วงสามารถดึงกลุ่มฝุ่นและก๊าซเข้าด้วยกันได้อย่างช้าๆ เมื่อกระจุกเหล่านี้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แรงโน้มถ่วงของมันก็จะแข็งแกร่งขึ้น ในที่สุดกลุ่มฝุ่นและก๊าซก็มีขนาดใหญ่มากจนยุบตัวลงภายใต้แรงโน้มถ่วงของมันเอง การยุบตัวทำให้วัตถุที่อยู่ใจกลางมีความหนาแน่นและร้อนขึ้น แกนกลางที่ร้อนนี้เรียกว่า โปรโตสตาร์ (Protostar) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของดวงดาว หากมีก๊าซเพียงเล็กน้อยอยู่รอบๆ ก็จะมีเพียงดาวฤกษ์เล็กๆ เท่านั้นที่ก่อตัวขึ้น (เช่นดวงอาทิตย์) หากมีก๊าซจำนวนมาก ดาวฤกษ์มวลมากจะก่อตัวขึ้น และเศษที่เหลือจะสร้างดาวเคราะห์และวัตถุอื่นๆ ในระบบดาวเคราะห์
แบบจำลองคอมพิวเตอร์สามมิติของการก่อตัวของดาวโดย Nasa ทำนายว่ากลุ่มเมฆของก๊าซและฝุ่นที่ยุบตัวลง อาจแตกออกเป็นโปรโตสตาร์สองหรือสามก้อน สิ่งนี้จะอธิบายได้ว่าทำไมดวงดาวส่วนใหญ่ในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกจึงจับคู่กันหรือเป็นกลุ่มของดาวหลายดวง
เมื่อเมฆฝุ่นและก๊าซยุบตัวจะเริ่มหมุน และเมื่อถึงเวลาก่อตัวของโปรโตสตาร์ (Protostar) กลุ่มเมฆจะแบนและมีแผ่นดิสก์โปรโตสเตลาร์ (Protostellar disk) หมุนอยู่รอบๆ โปรโตสตาร์ แผ่นดิสก์ที่มีก๊าซและฝุ่นหนาแน่นรอบโปรโตสตาร์เหล่านี้บางครั้งก็รวมตัวกันเป็นระบบดาวเคราะห์
โปรโตสตาร์ดูเหมือนดาว แต่แกนกลางของมันยังไม่ร้อนพอที่จะเกิดการหลอมรวมได้ ความส่องสว่างมาจากความร้อนของโปรโตสตาร์เท่านั้นเมื่อมันหดตัว โดยปกติแล้วโปรโตสตาร์จะถูกล้อมรอบไปด้วยฝุ่นซึ่งปิดกั้นแสงที่เปล่งออกมาจึงสังเกตได้ยากในสเปกตรัมที่มองเห็นได้
ขั้นตอนที่ 2: ดาวลำดับหลัก (Main sequence star)
การยุบตัวของโปรโตสตาร์ดำเนินต่อไป จนกระทั่งแกนกลางโปรโตสตาร์มีอุณหภูมิสูงถึง 10-15 ล้านองศาเคลวิน ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่จำเป็นสำหรับปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (nuclear fusion) ทำให้นิวเคลียสของไฮโดรเจนที่อยู่รวมกันหลอมรวมกันกลายเป็นฮีเลียม ในกระบวนการหลอมรวมกันของไฮโดรเจนเหล่านี้ จะปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลออกมาในรูปของความร้อนซึ่งทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างต่อเนื่อง พลังงานที่สร้างขึ้นในดาวจะถูกแผ่ออกไปด้านนอกเป็นโฟตอนของแสง เมื่อโฟตอนผ่านดาวพวกมันจะสร้างแรงดันสุทธิออกไปด้านนอก (ความดันการแผ่รังสี) พร้อมกับความดันจากความร้อนของวัตถุในดาวซึ่งจะไปต้านทานแรงโน้มถ่วง เมื่อแรงโน้มถ่วงสมดุลกับความดันทั้งหมด ทำให้มีรูปร่างที่มั่นคงเป็นทรงกลม การยุบตัวของดาวจึงยุติลง ณ จุดนี้เราถือว่า “ดาวฤกษ์” ได้ถือกำเนิดขี้นแล้ว มันอยู่ในระยะที่เรียกว่า “ดาวฤกษ์ลำดับหลัก (Main sequence star)” ดวงดาวส่วนใหญ่ในจักรวาล – ประมาณร้อยละ 90 เป็นดาวฤกษ์ลำดับหลัก ดวงอาทิตย์ของเราก็เป็นดาวฤกษ์ลำดับหลัก
อายุของดาวขึ้นอยู่กับมวลรวมของดาวซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดของวิวัฒนาการและชะตากรรมของดวงดาว ยิ่งมวลมีขนาดใหญ่วงจรชีวิตก็จะยิ่งสั้นลง ดาวฤกษ์มวลมากขนาดใหญ่เผาผลาญเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้เร็วกว่าดาวฤกษ์ขนาดเล็กมากและอาจอยู่ได้เพียงไม่กี่แสนปี อย่างไรก็ตามดาวที่มีขนาดเล็กกว่าจะอยู่ได้นานหลายพันล้านปีเนื่องจากพวกมันเผาผลาญเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้ช้ากว่ามาก ดาวที่มีขนาดเท่าดวงอาทิตย์ของเราสามารถส่องแสงได้ด้วยการหลอมรวมไฮโดรเจนเป็นเวลาประมาณ 10 พันล้านปี แต่ดาวที่มีขนาด 10 เท่าของดวงอาทิตย์จะมีอายุเพียง 20 ล้านปี
เส้นทางของดาวฤกษ์ลำดับหลักที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ : ดาวยักษ์แดง (red giant star) –> เนบิวล่าดาวเคราะห์ (planetary nebulae) –> ดาวแคระขาว (white dwarf) –> ดาวแคระดำ (black dwarf)
เส้นทางของดาวฤกษ์ลำดับหลักที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ : ดาวยักษ์ใหญ่แดง (red supergiant star) –> ซูเปอร์โนวา (supernova) –> ดาวนิวตรอน (neutron star) หรือ หลุมดำ (black hole)
ขั้นตอนที่ 3: ดาวยักษ์แดงและดาวยักษ์ใหญ่แดง (Red Giant & Red Supergiant)
ดาวฤกษ์ลำดับหลัก (Main sequence star) เรืองแสง เนื่องจากไฮโดรเจนในแกนกลางของมันถูกเปลี่ยนเป็นฮีเลียมโดยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน เมื่อปริมาณไฮโดรเจนในแกนกลางเริ่มหมดลงและฮีเลียมหลอมรวมเป็นธาตุหนัก เช่น คาร์บอนในแกนกลางของดาวยักษ์แดง
เมื่อดาวฤกษ์ไม่ได้สร้างความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันอีกต่อไป แกนกลางจะไม่เสถียรและหดตัว เปลือกนอกของดาวซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นไฮโดรเจนเริ่มขยายตัว เมื่อขยายออกดาวจะเย็นตัวและเรืองแสงเป็นสีแดง ตอนนี้ดาวได้ถึงระยะที่เรียกว่า “ดาวยักษ์แดง (Red giant)” มันเป็นสีแดงแทนที่จะเป็นสีเหลือง เพราะมันเย็นกว่าในช่วงดาวฤกษ์ลำดับหลัก และมันมีขนาดใหญ่ขึ้น (เป็นยักษ์) เพราะเปลือกนอกของดาวขยายออกไปด้านนอก หากดาวฤกษ์มีมวลมากพอก็จะมีขนาดใหญ่พอที่จะจัดเป็นดาวยักษ์ใหญ่แดง (Red supergiant) ได้
ดาวยักษ์แดงและดาวยักษ์ใหญ่แดงเป็นดาวที่กำลังจะตายในขั้นตอนสุดท้ายของวิวัฒนาการของดวงดาว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100 ล้านถึง 1 พันล้านกิโลเมตร มีขนาด 100 ถึง 1,000 เท่าของดวงอาทิตย์ในปัจจุบัน
ขั้นตอนที่ 4: ซูเปอร์โนวาและเนบิวลาดาวเคราะห์ (Supernova and Planetary nebulae)
เมื่อดาวยักษ์แดง (Red giant) ขยายตัว ฮีเลียมหลอมรวมเป็นคาร์บอนในแกนกลางของมัน และพลังงานของปฏิกิริยานี้จะป้องกันไม่ให้แกนกลางยุบตัว เมื่อการหลอมรวมฮีเลียมเป็นคาร์บอนสิ้นสุดลง แกนกลางของดาวจะหดตัว และดาวฤกษ์เริ่มหลอมรวมคาร์บอนเป็น ออกซิเจน ไนโตรเจน และจนกระทั่งเหล็กเริ่มปรากฏในแกนกลาง (นี่คือวิธีที่ธาตุต่างๆ ก่อตัวขึ้นทีละชนิด)
เมื่อแกนกลางของดาวฤกษ์ประกอบด้วยเหล็กเป็นหลัก การหลอมรวมเหล็กต้องใช้พลังงานในการสลายนิวเคลียสของเหล็กมากกว่าองค์ประกอบอื่นๆ การหลอมรวมเหล็กจึงต้องใช้พลังงานมากกว่าการปลดปล่อยพลังงาน เนื่องจากพลังงานไม่ได้ถูกแผ่ออกจากแกนกลางอีกต่อไป ทำให้แกนกลางยุบตัว และอุณหภูมิแกนกลางสูงขึ้นถึง 100 พันล้านองศาเคลวิน ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งวินาทีดาวจึงเริ่มขั้นตอนสุดท้ายของการล่มสลายด้วยแรงโน้มถ่วง เมื่ออะตอมของเหล็กถูกบดอัดเข้าด้วยกัน แรงผลักระหว่างนิวเคลียสจะเอาชนะแรงโน้มถ่วง และแกนกลางจะหลุดออกจากใจกลางดาวด้วยคลื่นกระแทกที่ระเบิดได้ ถ้าดาวฤกษ์ที่มีมวลประมาณสิบเท่าหรือมากกว่าของมวลดวงอาทิตย์จะเกิดการระเบิดขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ซูเปอร์โนวา (Supernova)” การระเบิดทำให้ชั้นนอกของดาวหลุดออกไปในอวกาศระหว่างดวงดาว วัตถุที่กระจายออกไปในอวกาศระหว่างดวงดาว บางทีอาจจะชนกับเศษซากจักรวาลอื่นๆ และก่อตัวเป็นดาวดวงใหม่ บางทีอาจจะก่อตัวเป็นดาวเคราะห์และดวงจันทร์ หลังจากการระเบิดของซูเปอร์โนวา แกนของดาวจะถูกทิ้งไว้กลายเป็นหลุมดำหรือดาวนิวตรอนที่มีความหนาแน่นมาก
สำหรับดาวฤกษ์ที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น ดวงอาทิตย์ จะไม่ระเบิด มันจะใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์จนหมดแกนของมัน เย็นตัวลงและหดตัวเป็นดาวแคระขาว (White dwarf) ส่วนก๊าซชั้นนอกของพวกมันจะแผ่ขยายตัวออกไปกลายเป็น “เนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary nebulae)” ซึ่งจะกลายเป็นวัตถุดิบในการสร้างดาวฤกษ์และดาวเคราะห์รุ่นถัดไป และทำให้จักรวาลมีธาตุอื่นๆ เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากไฮโดรเจนและฮีเลียม
ขั้นตอนที่ 5: ดาวแคระขาว ดาวนิวตรอน และหลุมดำ (White dwarf, Neutron star and Black hole)
ดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยหรือปานกลาง เช่น ดวงอาทิตย์ของเรา จะกลายเป็นดาวแคระขาวเมื่อเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้หมดลง
เมื่อดาวฤกษ์ที่มีมวลมากที่สุดตายไป พวกมันจะพังทลายลงภายใต้แรงโน้มถ่วงของตัวเองกลายเป็นหลุมดำ สำหรับดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยกว่านี้ เมื่อตายไปพวกมันจะระเบิดและทิ้งซากแกนกลางที่มีความหนาแน่นสูงเรียกว่าดาวนิวตรอน
ดาวแคระขาว (White dwarf)
ดาวฤกษ์อย่างดวงอาทิตย์ของเราจะกลายเป็นดาวแคระขาวเมื่อเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้หมดลง เมื่อใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของขั้นตอนการเผาไหม้ของปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ดาวประเภทนี้จะขับไล่วัตถุภายนอกส่วนใหญ่ออกไปสร้างเนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary nebula) เหลือเพียงแกนกลางของดาวที่ร้อนระอุ แกนกลางนี้กลายเป็นดาวแคระขาวที่ร้อนมาก โดยมีอุณหภูมิสูงกว่า 100,000 องศาเคลวิน ดาวแคระขาวทั่วไปมีขนาดประมาณโลกแต่มีความหนาแน่นมาก ดาวแคระขาวจะเย็นตัวลงในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้า ในที่สุดดาวดังกล่าวก็เย็นลงอย่างสมบูรณ์และกลายเป็นดาวแคระดำ (ฺBlack dwarf)
ดาวนิวตรอน (Neutron star)
ดาวนิวตรอนเป็นผลผลิตสุดท้ายของการวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่ ดาวนิวตรอนเป็นดาวขนาดเล็กที่มีความหนาแน่นสูงอย่างยิ่งยวด มันมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 10–30 กิโลเมตร แต่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 1.4-2 เท่า ดาวนิวตรอนบางชนิดยังเป็นวัตถุที่หมุนเร็วที่สุด โดยหมุนได้ถึงหลายพันครั้งต่อวินาที ดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองชนิดนี้เรียกว่า พัลซาร์ (pulsar)
ดาวนิวตรอนเป็นซากแกนกลาง (core) ของดาวฤกษ์มวลสูงที่หลงเหลือจากการระเบิดซูเปอร์โนวา เศษซากภายในของซูเปอร์โนวายังคงพังทลายลงในตัวมันเอง แรงโน้มถ่วงมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะเอาชนะความดันของอิเล็กตรอนได้ เมื่ออิเล็กตรอนไม่สามารถต้านทานการยุบตัวด้วยแรงโน้มถ่วงที่มากขึ้นของดาวดังกล่าวได้ และถูกผลักเข้าไปในนิวเคลียสของอะตอมซึ่งพวกมันรวมตัวกับโปรตอนเพื่อสร้างนิวตรอนที่ไม่มีประจุและอัดแน่น ทำให้สสารมีนิวตรอนมากขึ้นเรื่อยๆ ความดันของนิวตรอนจะป้องกันไม่ให้แกนกลางยุบลงไปอีกและกลายเป็นดาวนิวตรอนในที่สุด
หลุมดำ (Black hole)
การสร้างหลุมดำเกี่ยวข้องกับการยุบตัวของดาวฤกษ์ที่มีมวลสูงมาก หลังจากการระเบิดซูเปอร์โนวา ซากแกนกลางของดาวจะเหลืออยู่ การยุบตัวจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงจุดที่สสารมีความหนาแน่นสูงมาก ซึ่งแรงโน้มถ่วงนั้นยิ่งใหญ่มากจนแม้แต่แสงก็ไม่สามารถหลุดรอดออกมาได้จากแรงดึงดูดของมันได้ และมีการสร้างหลุมดำขึ้น หลังจากสร้างหลุมดำแล้ว แรงโน้มถ่วงยังคงดึงเศษซากอวกาศและสสารประเภทอื่นๆ เข้ามาช่วยเพิ่มมวลของแกนกลาง ทำให้หลุมดำนั้นแข็งแกร่งและทรงพลังมากขึ้น จนถึงจุดที่เรียกว่า Singularity ซึ่งเป็นจุดที่สสารและพลังงานทั้งหมดถูกอัดแน่นด้วยแรงกดดันที่รุนแรงจนมีขนาดเล็กมากแบบไม่มีที่สิ้นสุด มีความหนาแน่นมากแบบไม่มีที่สิ้นสุด และมีความร้อนสูงมากแบบไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน
เนื่องจากไม่มีแสงใดสามารถหลุดรอดออกมาได้จึงมองไม่เห็นหลุมดำ อย่างไรก็ตามกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีเครื่องมือพิเศษสามารถช่วยค้นหาหลุมดำได้
The Kid LAROI – Thousand Miles
ตอนแรกโลกร้อนจัดและไม่มีชั้นบรรยากาศ ในช่วงเวลาหนึ่ง อากาศเย็นลง และชั้นบรรยากาศถูกสร้างขึ้นจากการปล่อยก๊าซจากหิน บรรยากาศช่วงแรกๆ นี้ไม่ใช่บรรยากาศที่เราจะอยู่รอดได้ ไม่มีออกซิเจน แต่มีก๊าซอื่นๆ จำนวนมากที่เป็นพิษต่อเรา เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) อย่างไรก็ตาม มีรูปแบบชีวิตดึกดำบรรพ์อื่นๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะที่เป็นพิษเหล่านี้ พวกมันพัฒนาขึ้นในมหาสมุทร
ข้อผิดพลาดเล็กน้อยในการสืบพันธุ์จะสร้างยีนใหม่ ซึ่งบางส่วนจะช่วยให้สิ่งมีชีวิตใหม่เหล่านั้นมีชีวิตรอด ทำให้พวกมันได้เปรียบเหนือยีนอื่นๆ กระบวนการวิวัฒนาการนี้นำไปสู่การพัฒนาสิ่งมีชีวิตที่สืบพันธุ์ด้วยตนเองที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์แรกๆ บริโภคสิ่งต่างๆ รวมทั้งไฮโดรเจนซัลไฟด์และปล่อยออกซิเจนออกมา สิ่งนี้ค่อยๆ เปลี่ยนบรรยากาศไปเป็นองค์ประกอบที่มีอยู่ในปัจจุบัน และทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบชีวิตที่สูงขึ้น เช่น ปลา สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสุดท้ายคือเผ่าพันธุ์มนุษย์
Lil Dicky – Earth