Newsletter subscribe

Science, Stephen Hawking

คำเตือนของสตีเฟน ฮอว์คิง#3 การพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยอาจเป็นสาเหตุของจุดจบมนุษยชาติ

Posted: 25/01/2020 at 16:44   /   by   /   comments (0)

ความแตกต่างระหว่างดาวเคราะห์น้อย (Asteroid), สะเก็ดดาว (Meteoroid), ดาวตก (Meteor), อุกกาบาต (Meteorite) และดาวหาง (Comet)

 

ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid หรือ Minor planet)

ดาวเคราะห์น้อย (Asteriod) คือ หินอวกาศขนาดเล็กซึ่งรวมอยู่ด้วยกันจำนวนหลายพันล้านก้อนในระบบสุริยะและโคจรรอบดวงอาทิตย์ เรียกบริเวณที่ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่โคจรอยู่ว่า “แถบดาวเคราะห์น้อย (asteroid belt)” ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรดาวอังคาร (Mars) และดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ดาวเคราะห์น้อยถูกสันนิษฐานว่าก่อตัวพร้อมๆกับดาวเคราะห์ทั้งหลาย (planets) ในระบบสุริยะจักรวาลเมื่อ 4,600 ล้านปีที่ผ่านมา ดาวเคราะห์น้อยจึงเปรียบเสมือนฟอสซิลของระบบสุริยะ พวกมันคือวัตถุที่ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ได้ระหว่างการก่อกำเนิดระบบสุริยะ เนื่องจากถูกรบกวนโดยแรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาวพฤหัสบดีซึ่งอยู่ใกล้เคียง สภาพของมันจึงไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ระบบสุริยะกำเนิดขึ้นมา นักวิทยาศาสตร์จึงศึกษาอุกกาบาตเพื่อเรียนรู้สิ่งที่ระบบสุริยะจักรวาลเคยเป็นมาก่อน

ศูนย์อวกาศจอห์นสันของนาซ่า (NASA’s Johnson Space Center) ได้รวบรวมอุกกาบาตมาจากสถานที่ต่างๆทั่วโลก ที่นี้ทำหน้าที่เป็นห้องสมุดอุกกาบาตสำหรับนักวิทยาศาสตร์ การศึกษาอุกกาบาตประเภทต่างๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย ดาวเคราะห์ และส่วนอื่นๆ ของระบบสุริยะของเรา

 

quora.com

 

ปัจจุบันมีดาวเคราะห์น้อยที่องค์การนาซ่านับได้จำนวน 930,768 ดวง  ดาวเคราะห์น้อยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ที่สุดที่ประมาณ 530 กิโลเมตร ไปจนถึงวัตถุที่มีความยาวน้อยกว่า 10 เมตร มวลรวมของดาวเคราะห์น้อยทั้งหมดที่รวมกันน้อยกว่าดวงจันทร์ของโลก  ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีรูปร่างไม่แน่นอน และมักจะเป็นหลุมหรือเป็นหลุมอุกกาบาต เมื่อพวกมันโคจรดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์น้อยก็หมุนรอบตัวเองด้วย มีดาวเคราะห์น้อยกว่า 150 ดวงที่มีดาวบริวาร (บางดวงมีดาวบริวารสองดวง) นอกจากนี้ยังมีดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่ากันโคจรรอบกันและกันเป็นคู่ เรียก ระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ (a binary asteroid)

 

ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์กาลิเลโอ แสดงภาพดาวเคราะห์น้อยไบนารี 243 Ida พร้อมดาวบริวาร Dactyl (universetoday.com)

 

สะเก็ดดาว (Meteoroid), ดาวหาง (Meteor) และอุกกาบาต (Meteorite)

สะเก็ดดาว (Meteoroid) เกือบทั้งหมดเป็นก้อนโลหะนิกเกิลและเหล็กที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์น้อย และโคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ  สะเก็ดดาวมีขนาดตั้งแต่เม็ดเล็กไปจนถึงวัตถุที่มีความกว้าง 1 เมตร วัตถุที่เล็กกว่านี้จัดเป็นฝุ่นอวกาศ (micrometeoroids) 

 

spaceplace.nasa.gov

สะเก็ดดาว (Meteoroids) ส่วนใหญ่เป็นเศษชิ้นส่วนที่มาจากการชนกันเองของดาวเคราะห์น้อย (asteroid) ในแถบดาวเคราะห์น้อย (asteroid belt) มีบางส่วนเป็นที่มาจากการชนกันของดาวหาง (comet) และบางส่วนเป็นเศษชิ้นส่วนของดาวอังคารหรือดวงจันทร์ที่หลุดออกมาจากการถูกวัตถุอวกาศพุ่งชน

 

File:Meteoroid meteor meteorite.gif

wikimedia.org

เมื่อสะเก็ดดาว (Meteoroid) เคลื่อนที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วยความเร็วสูง เกิดการเสียดสีกับบรรยากาศของโลก ทำให้อากาศรอบๆตัวมันเผาไหม้เห็นเป็นแสงสว่างและมีหางเรียกว่า “ดาวตก (meteor)”  โดยมากแล้วดาวตกขนาดเล็กจะเสียดสีกับบรรยากาศ ถูกเผาไหม้จนกลายเป็นไอไปหมดก่อนที่จะถึงพื้นโลก แต่ในกรณีที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะระเหยไปหมด เราจะเรียกดาวตกที่ตกลงมาถึงพื้นโลกว่า “อุกกาบาต (meteorite)” 

 

slideplayer.com

ดาวหาง (Comet)

ดาวหาง (Comet) โคจรรอบดวงอาทิตย์เหมือนดาวเคราะห์น้อย (asteriod) แต่ดาวหางประกอบด้วยน้ำแข็งและฝุ่น ไม่ใช่หิน เมื่อดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ น้ำแข็งและฝุ่นจะกลายเป็นไอ และกลายเป็นหางของดาวหางในที่สุด เราสามารถเห็นดาวหางได้แม้จะอยู่ไกลจากโลกมากก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากที่เราเห็นดาวตกต่อเมื่อมันมาอยู่ในชั้นบรรยากาศของเรา

 

 

Calvin Harris & Alesso – Under Control ft. Hurts

 

 

ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก (Asteroid Impacts)

ดาวเคราะห์น้อย (asteroid) เป็นหินก้อนเล็กๆที่หลงเหลือจากการก่อตัวของระบบสุริยะของเราเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีก่อน มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะเรียกว่าดาวเคราะห์ พวกมันโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยทั่วไปวงโจรเป็นรูปวงรี วงโคจรของโลกและดาวเคราะห์น้อยสามารถตัดกันทำให้ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กเวลาพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศของโลก มันจะเสียดสีกับอากาศและถูกเผาไหม้จนลุกเป็นไฟ ส่วนใหญ่จะถูกเผาไหม้กลายเป็นไอแบบสมบูรณ์ แต่ในกรณีที่ดาวเคราะห์น้อยมีขนาดใหญ่ จะมีซากหลงเหลือที่ถูกเผาไหม้ไม่หมดพุ่งกระทบพื้นผิวโลก การชนโลกอย่างรุนแรงจะทำให้ผิวโลกเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ (crater) นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าเคยมีวัตถุใกล้โลกขนาดใหญ่พุ่งชนโลกมาหลายครั้งแล้ว โดยมีหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่มากกว่า 160 แห่งที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลกในปัจจุบัน 

 

newscientist.com

หากดาวเคราะห์น้อยชนกับพื้นโลก จะเกิดฝุ่นจำนวนมากลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ถ้าดาวเคราะห์น้อยพุ่งตกในบริเวณที่เป็นมหาสมุทร จะทำให้มีไอน้ำเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศทำให้เกิดดินถล่มและโคลนถล่ม ความรุนแรงของการตกอาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิไหลท่วมบรรดาเมืองใหญ่น้อยที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งของทวีป 

 

dailystar.co.uk

เหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือ เหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคครีเตเชียส (Cretaceous) เมื่อราว 65 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่สูญพันธุ์ทั้งหมด คาดว่าเป็นผลมาจากดาวเคราะห์น้อยขนาดกว้างประมาณ 10 กิโลเมตรพุ่งชนโลก สมมุติฐานนี้มาจากหลักฐานการปรากฎหลุมอุกกาบาตชิกซูลูบ (Chicxulub Crater) ที่บริเวณคาบสมุทรยูคาทัน (Yucatan Peninsula) และใต้อ่าวเม็กซิโก แต่นั้นเป็นโลกก่อนประวัติศาสตร์

 

pinterest.com

ตลอดประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ มีรายงานดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกหลายร้อยรายการ มีบางเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย ดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เมตร พุ่งโจมตีโลกประมาณ 2 ครั้งทุก 100 ปี หนึ่งในผลกระทบที่บันทึกไว้ที่รู้จักกันดีที่สุดในประวัติศาสตร์คือ เหตุการณ์ตุงกุสคา (Tunguska explosion) เป็นการระเบิดอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำพอดกาเมนนายาตุงกุสคา ไซบีเรีย ประเทศรัสเซียเมื่อปี 1908 มีความรุนแรงกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าถึง 1,000 เท่า ทำลายต้นไม้ประมาณ 80 ล้านต้น กินอาณาบริเวณประมาณ 2,150 ตารางกิโลเมตร ทั่วโลกเห็นเป็นแสงสว่างเกิดขึ้นทางทิศตะวันตกกินเวลา 4-5 ชั่วโมง แม้ว่าสาเหตุยังคงเป็นประเด็นถกเถียง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเหตุการณ์ตุงกุสคาเกิดจากดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาด 10-30 กิโลเมตรพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก แล้วระเบิดกลางอากาศที่ความสูงเหนือพื้นผิวโลก 5-10 กิโลเมตร สร้างแรงระเบิดอัดอากาศอย่างรุนแรงทำให้เกิดการทำลายล้างบนพื้นผิวโลกด้านล่างเป็นบริเวณกว้าง นับเป็นการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มนุษย์สังเกตพบในช่วงประวัติศาสตร์มนุษย์ 

 

วีดิโอแสดงเหตุการณ์ดาวตก Chelyabinsk

เหตุการณ์ดาวตกเชเลียบินสค์ (Chelyabinsk explosion) ในปี 2013 เกิดจากดาวเคราะห์น้อย (asteroid) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเหนือประเทศรัสเซียและบางส่วนของประเทศคาซัคสถาน เกิดเป็นลูกไฟพุ่งผ่านท้องฟ้าด้วยความเร็วอย่างน้อย 54,000 กม./ชม. และแตกเป็นเสี่ยงๆ สถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซียประมาณว่า อุกกาบาตก้อนนี้หนักราว 10,000 ตันก่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และเกิดระเบิดกลางอากาศที่ความสูงระหว่าง 30-50 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน โดยมีพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาเทียบเท่ากับ TNT 440,000 ตัน สะเก็ดดาวนี้ไม่ถูกตรวจพบก่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ

ดาวตก Chelyabinsk ครั้งนี้เป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดที่มีบันทึกว่าพุ่งชนโลกนับแต่เหตุการณ์ที่ตุงกุสคาเมื่อปี 1908 และเป็นเหตุการณ์เดียวในประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจำนวนมาก มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นเพราะถูกเศษกระจกที่เกิดจากคลื่นกระแทกบาด มีอาคาร 3,000 แห่งใน 6 เมืองใหญ่ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการระเบิดและแรงกระแทก 

 

การปกป้องโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย

มีดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) หลายล้านดวงที่ซ่อนอยู่ในระบบสุริยะชั้นในที่โคจรรอบดวงอาทิตย์   มีดาวเคราะห์น้อย 16,000 ดวงที่ถูกจัดเป็นวัตถุใกล้โลก (Near-Earth Objects ; NEOs) ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย องค์การนาซ่ากำลังเฝ้าดูพวกมันอยู่ตลอดเวลา เพราะดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตบนโลก นาซ่าเชื่อว่ามีโอกาส 1 ใน 300,000 ทุกๆปี ที่ดาวเคราะห์น้อยอาจพุ่งชนโลกและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง อันตรายจากการพุ่งชนของวัตถุใกล้โลกจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของวัตถุนั้น ภัยในระดับรุนแรงมากมักมาจากวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์การทำลายล้างในระดับภูมิภาคหรือระดับทั่วโลก 

เครือข่ายการเตือนดาวเคราะห์น้อยระหว่างประเทศ (International Asteroid Warning Network; IAWN) และกลุ่มที่ปรึกษาการวางแผนภารกิจอวกาศ (Space Mission Planning Advisory Group; SMPAG) เป็นสองหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในปี 2014 อันเป็นผลมาจากคำแนะนำที่ได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เป็นการทำงานร่วมกันทั่วโลกเพื่อการตรวจจับ ติดตาม และวางแผนป้องกัน อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อย ดาวเคราะห์น้อยถูกตรวจจับโดยการสำรวจท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์ทั้งจากบนพื้นดินและในอวกาศส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา และอิตาลี

 

express.co.uk

อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking)  นักฟิสิกส์ทฤษฎี นักจักรวาลวิทยา และนักเขียนในตำนานผู้ล่วงลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2019 เมื่ออายุ 76 ปี ได้เตือนเราถึงภัยอันตรายจากพวกมันมาตั้งแต่ปี 2010 ในรายการเปิดตัวภาพยนตร์สารคดีทางโทรทัศน์ที่เขาเขียน “ Into the Universe with Stephen Hawking” โดยซีรีส์นี้สร้างขึ้นสำหรับ Discovery Channel  ศาสตราจารย์ฮอว์คิงเล่าเรื่องสถานการณ์ต่างๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้บนโลกใบนี้ เขาครุ่นคิดถึงภัยคุกคามของสงครามนิวเคลียร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอันตรายมากมายที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของอวกาศ โดยช่วงหนึ่ง สตีเฟน ฮอว์คิง ได้กล่าวว่า

“หากเรามองอนาคตจะพบว่าจักรวาลเป็นสถานที่ๆค่อนข้างอันตราย แค่เรามองไปที่ละแวกของเรา มันจะเกลื่อนไปด้วยดาวเคราะห์น้อยนับพันล้าน เศษซากโบราณที่หลงเหลืออยู่จากกระบวนการที่สร้างระบบสุริยะ ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้คือ หนึ่งในความเป็นไปได้ที่เป็นสาเหตุของจุดจบของมนุษยชาติ นี้ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์หรือหนังหายนะของโลกจากฮอลลีวูด แต่ภัยคุกคามจากดาวเคราะห์น้อยเป็นเรื่องจริง มันรับประกันโดยกฎของฟิสิกส์และความน่าจะเป็น””

สตีเฟน ฮอว์คิง ยังได้เขียนถึงความกลัวของเขาใน “Big Questions” หนังสือเล่มสุดท้ายที่ถูกตีพิมพ์หลังการเสียชีวิตของเขา “หนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญต่อชีวิตที่ชาญฉลาดในจักรวาลของเราคือ มีความน่าจะเป็นสูงที่ดาวเคราะห์น้อยจะชนกับโลกที่เราอาศัยอยู่ การพุ่งชนครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ 66 ล้านปีก่อนและนั่นทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์และมันจะเกิดขึ้นอีกครั้ง การพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถป้องกันได้”

 

 

Alan Walker ft. Gavin James – Tired