Newsletter subscribe

Agriculture, การแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายและทางเลือกทดแทน

การแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตราย#1 ไกลโฟเซต (Glyphosate)

Posted: 13/06/2020 at 10:58   /   by   /   comments (0)

การควบคุมวัชพืช (Weed Control)

ศัตรูพืช ได้แก่ วัชพืช แมลง หรือโรคพืช ในบรรดาศัตรูพืชทั้งสามประเภท “วัชพืช” เป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่แย่งชิงผลผลิตทางการเกษตร  ลองนึกภาพหากเราเป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชผลจำนวนหลายร้อยไร่ การป้องกันไม่ให้วัชพืชเข้ายึดนาและทำลายพืชผลเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง!

วัชพืชเป็นพืชที่ไม่พึงประสงค์ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในไร่นาสวน มักสร้างความเสียหายแก่พืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงแรกของการเจริญเติบโต เนื่องจากวัชพืชจะขึ้นแข่งขันกับพืชผลเพื่อแย่งชิงอากาศ สารอาหาร น้ำ และแสงแดด ทำให้พืชผลของเกษตรกรเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ และทำให้ผลผลิตลดลง ทำให้เกษตรกรต้องหาหนทางและวิธีการต่างๆ มาใช้เพื่อการควบคุมวัชพืช ในแต่ละปีเกษตรกรได้ใช้จ่ายทั้งเงิน เวลา และความรู้ต่างๆ ในการควบคุมวัชพืช ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง

เนื่องจากการควบคุมวัชพืชเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำการเกษตร ช่วยให้เกษตกรสามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของพืชเศรษฐกิจ วิธีควบคุมวัชพืชที่เกษตรกรใช้ปกป้องพืชผลของพวกเขาแบ่งได้เป็น 4 ประเภทดังนี้

(1) การควบคุมวัชพืชเชิงป้องกัน (Preventative Weed Control): ได้แก่การปลูกพืชคลุมดิน อาจเป็นหญ้าหรือพืชตระกูลถั่ว จะช่วยกำจัดวัชพืช เนื่องจากพืชคลุมดินส่วนใหญ่จะมีใบเป็นจำนวนมาก และหล่นทับถมบนผิวดินจนแสงสว่างส่องไม่ถึงผิวดิน เมื่อเป็นเช่นนี้วัชพืชก็จะไม่มีโอกาสงอกได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราปลูกถั่วลายคลุมดิน จะทำให้หญ้าคาตายได้ เพราะถูกบังแสงแดด จนมีไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

(2) การควบคุมวัชพืชโดยวิธีกล (Mechanical weed control): การกำจัดวัชพืชแบบนี้ ทำได้โดยใช้แรงงานคนถางและดาย หรือใช้เครื่องจักรกลไถพรวน กำจัดวัชพืช ให้หมดไป 

(3) การควบคุมวัชพืชโดยวิธีทางชีวภาพ (Biological weed control): เป็นการใช้สิ่งมีชีวิตและสารธรรมชาติมาควบคุมวัชพืช ได้แก่ แมลง สารสกัดจากธรรมชาติ แต่การใช้แมลงไม่สามารถกำจัดวัชพืชให้หมดสิ้นไป เพียงลดปริมาณลงเท่านั้น เช่น ในออสเตรเลียใช้แมลงนำเข้าจากอาร์เจนตินา นำมาปล่อยให้กัดกินต้นกระบองเพชร

(4) การกำจัดวัชพืชโดยสารเคมี (Chemical weed control): เป็นการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้ เพราะสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูง สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แต่ก็เป็นวิธีการที่มีอันตรายต่อผู้ใช้และต่อสิ่งแวดล้อมมาก หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง 

 

 

Years & Years – King

 

 

การควบคุมวัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช

ปัจจุบันการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช มีบทบาทสําคัญในการพัฒนาการทางด้านการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ในแต่ละปีมีการใช้สารเคมีเป็นจํานวนมากและมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากเป็นวิธีกำจัดวัชพืชที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูง 

สารกำจัดวัชพืช (herbicides หรือ weedkillers) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ยาฆ่าหญ้า” เป็นสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชที่คุกคามการเจริญเติบโตของพืชผล แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

(1) สารแบบเลือกทำลาย (Selective herbicides) จะเลือกฆ่าพืชเป้าหมายบางชนิด (ตามที่ระบุไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์) แต่ไม่เป็นอันตรายหรือเป็นอันตรายเล็กน้อยต่อพืชที่ปลูก เช่น 2,4-D ที่ถูกใช้เพื่อกำจัดวัชพืชใบกว้างโดยไม่เป็นพิษต่อต้นข้าวที่เป็นพืชใบแคบ เป็นต้น

(2) สารแบบไม่เลือกทำลาย (Non-selective herbicides) จะเป็นอันตรายกับพืชทุกชนิดที่รับสารนี้เข้าไป เช่น Round-Up (glyphosate) มักถูกใช้เพื่อฆ่าวัชพืชที่ขึ้นในไร่นาทั้งหมด ก่อนที่จะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชที่ต้องการ

 

ไกลโฟเซต (Glyphosate)

usu.org.au

ไกลโฟเซต (glyphosate) เป็นสารประกอบขนาดเล็กที่เป็นส่วนผสมออกฤทธิ์ในสูตรยากำจัดวัชพืชหลายชนิด มันถูกค้นพบว่าเป็นยาฆ่าวัชพืชโดยนักเคมีของผู้ประกอบธุรกิจด้านเคมีเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรรายใหญ่ของโลก “มอนซานโต้ (Monsanto)” ของสหรัฐอเมริกา บริษัทผลิตไกลโฟเซตออกสู่ตลาดเพื่อใช้ในการเกษตรครั้งแรกในปี 1974 ภายใต้ชื่อการค้า “ราวด์อัพ (Roundup)” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลก หลังจากสิทธิบัตรทางการค้าสารไกลโฟเซตของบริษัทมอนซานโต้หมดอายุลงในปี 2000 ผู้ผลิตรายอื่นจึงสามารถผลิตและจำหน่ายไกลโฟเซตและสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีส่วนผสมของไกลโฟเซตสูตรต่างๆ และจำหน่ายในท้องตลาดในชื่อทางการค้าต่างๆ กัน ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้ผลิตไกลโฟเซตรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของการส่งออกทั่วโลก

ในปี 2018 บริษัทไบเออร์ (Bayer) ของเยอรมัน ทุ่มเงิน 63,000 ดอลลาร์สหรัฐ เข้าควบกิจการของ Monsanto  ปัจจุบัน Monsanto เป็นเพียงบริษัทหนึ่งใน Bayer AG

 

en.mercopress.com

คุณสมบัติของไกลโฟเซต

ไกลโฟเซต (glyphosate) เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทดูดซึมและทำให้แห้งตาย จัดเป็นสารประกอบจำพวกออแกโนฟอสฟอรัส (organophosphorus compound) ไกลโฟเซตมีประสิทธิภาพในการฆ่าวัชพืชหลายหลากชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัชพืชใบกว้างและหญ้าที่แข่งขันกับพืช

ในการทำงาน ไกลโฟเซตจะต้องถูกดูดซึมทางใบของพืช (วัชพืช) และถูกดูดซึมได้เล็กน้อยทางรากของพืช  จากนั้นสารเคมีชนิดนี้เข้าไปออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในการสังเคราะห์กรดอะมิโนอะโรมาติก 3 ชนิด คือ ไทโรซีน ทริปโตเฟน และฟีนิลอะลาลานีน  ทำให้วัชพืชไม่สามารถสร้างโปรตีนบางอย่างที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตได้ ทำให้วัชพืชแห้งตายในที่สุด ดังนั้นการใช้ไกลโฟเซตจึงมีประสิทธิภาพในช่วงที่วัชพืชกำลังเจริญเติบโต จึงมีการใช้ไกลโฟเซตซ้ำแล้วซ้ำอีกในการควบคุมวัชพืชในเวลาที่วัชพืชงอกใหม่ (post-emergence herbicide)

 

การนำไกลโฟเซตไปใช้

ไกลโฟเซต (glyphosate) เป็นสารออกฤทธิ์ในยาฆ่าวัชพืช Roundup ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการเกษตรมากที่สุดในโลก บางประเทศยังใช้สารไกลโฟเซตในการกำจัดวัชพืช ในป่าไม้ สนามหญ้า สวน เขตอุตสาหกรรม และตามทางหลวง และผลิตภัณฑ์บางอย่างที่มีไกลโฟเซตสามารถนำไปใช้ควบคุมพืชน้ำ

โดยทั่วไปเกษตรกรฉีดพ่นไร่ของพวกเขาด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีไกลโฟเซตเพื่อ “กำจัดวัชพืชก่อนที่จะปลูกพืชผล หรือพืชผลเริ่มเติบโต” เกษตรกรหลายคนใช้ Roundup ที่มีไกลโฟเซตเป็นส่วนผสมที่สำคัญ และสารกำจัดวัชพืชอื่นๆ เป็นประจำเพื่อล้างทุ่งหญ้าของพวกเขาก่อนที่จะปลูกพืชผล แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือพวกเขายังใช้ไกลโฟเซตเพื่อทำให้พืชผลแห้งก่อนการเก็บเกี่ยว ทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว การปฏิบัตินี้เรียกว่าผึ่งให้แห้ง ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของเกษตรกร แต่การใช้ไกลโฟเซตในเวลาใกล้เคียงกับการเก็บเกี่ยว ทำให้โอกาสในการมีสารตกค้างในพืชอาหารสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง

 

 

Taylor Swift – Bad Blood ft. Kendrick Lamar

 

 

เกษตรกรทั่วโลกใช้สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซต (glyphosate) เป็นส่วนผสมหลัก ในการฆ่าพืชที่ไม่พึงประสงค์มานานกว่าสี่สิบปี แต่การใช้งานดังกล่าวทำให้เกิดการถกเถียงในเรื่องความปลอดภัยของไกลโฟเซตที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีความวิตกกังวลมากขึ้นต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการใช้ไกลโฟเซตมากเกินไป โดยเฉพาะคุณสมบัติที่เป็นสารก่อมะเร็งของไกลโฟเซตเป็นหัวข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง และได้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลได้ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตามการประเมินล่าสุดดูเหมือนจะมุ่งเน้นไปที่สารก่อมะเร็งและความเป็นพิษต่อพันธุกรรมของไกลโฟเซต 

 

องค์การเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก

ในปี 2015 องค์การเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก กำหนดให้ไกลโฟเซตอยู่ในกลุ่ม 2A ที่ “อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์” หลังจากการตรวจสอบผลงานวิจัยกว่าพันเรื่องที่ถูกตีพิมพ์ทั่วโลกมานานหลายปี ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติพบความเชื่อมโยงระหว่างไกลโฟเซตกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma; NHL)

ซึ่งขัดแย้งกับข้อสรุปที่ตามมาภายหลังโดยหน่วยงานวิจัยอื่นๆ เช่น สำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป (EFSA) และสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) ที่สรุปว่า ไกลโฟเซตไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงมะเร็งต่อมนุษย์ เมื่อปี 2017

หมายเหตุ : สารกลุ่ม 2A: “อาจก่อมะเร็งต่อมนุษย์” มีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอว่ามันสามารถทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ได้แก่ กาแฟ เบคอน สารเร่งเนื้อแดง เป็นต้น

 

สหภาพยุโรป (EU)

ในเดือนมีนาคม 2017 หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority; EFSA) และ องค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป (European Chemicals Agency; ECHA) ตกลงที่จะคงจัดไกลโฟเซตไว้ในหมวดหมู่เดิมซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อดวงตาอย่างรุนแรง และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่มีผลกระทบยาวนาน  คณะกรรมการประเมินความเสี่ยง (RAC) ได้ข้อสรุปว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ไม่ตรงตามเกณฑ์ในการจำแนกไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็ง  แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคได้โต้แย้งว่า หน่วยงานกำกับดูแลศึกษาจากงานวิจัยที่ไม่เหมาะสม ซึ่งถูกกำกับและจัดการโดยกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี

แม้ว่าหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารยุโรป (EFSA)ได้ประกาศว่า “สารกำจัดศัตรูพืชไกลโฟเซตมีความปลอดภัย” แต่ก็มีความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนว่าไกลโฟเสตอาจทำให้เกิดมะเร็งได้ เพราะในปี 2015 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้จัดให้สารไกลโฟเซตอยู่ในหมวดซึ่งเป็นสารที่อาจจะก่อมะเร็งในมนุษย์

ใบอนุญาตของสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตจะหมดอายุในสิ้นปี 2017 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้เปิดให้ประเทศสมาชิกทำการแสดงความคิดเห็น ในเรื่องการต่อใบอนุญาตของสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตไปอีก 5 ปี

ในเดือนธันวาคม 2017 สหภาพยุโรป (EU) มีมติขยายใบอนุญาตให้ใช้ไกลโฟเซตในสหภาพยุโรปได้อีก 5 ปี โดยมีสมาชิก 18 คนจาก 28 ประเทศที่ลงคะแนนเห็นชอบอนุญาต ดังนั้นไกลโฟเซตจึงสามารถใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์อารักขาพืช (PPPs) ไปจนถึง “วันที่ 15 ธันวาคม 2022”

การประท้วงจำนวนมากปะทุขึ้นในยุโรป หลังจากที่ EU ขยายการอนุญาตให้ใช้ไกลโฟเซตในการเกษตรต่อไปอีก 5 ปีในสหภาพยุโรป

ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2019 คณะกรรมาธิการได้แต่งตั้งสี่ประเทศสมาชิก (ฝรั่งเศส ฮังการี เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน) ร่วมกันทำหน้าที่เป็น “ผู้รายงานการประเมินไกลโฟเซตครั้งต่อไป” – กลุ่มการประเมินไกลโฟเซตนี้ (AGG) จะประเมินเอกสารที่กลุ่มบริษัทยื่นคำขอ (กลุ่มบริษัทที่ต้องการต่ออายุการอนุมัติสารไกลโฟเซตในสหภาพยุโรป) และเตรียมรายงานการประเมินการต่ออายุ ที่จะได้รับการทบทวนโดยองค์การความปลอดภัยด้านอาหาร (EFSA) ในปี 2021

สามปีก่อนหมดอายุการอนุมัติ (เช่นภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2019) บริษัทที่ประสงค์จะต่ออายุการอนุมัติสารไกลโฟเซตในสหภาพยุโรป จะต้องยื่นคำร้องขอต่ออายุที่กลุ่ม AGG เพื่อตรวจสอบเอกสาร เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้อง เมื่อเสร็จแล้วจะถูกส่งไปยัง EFSA เพื่อเริ่มกระบวนการตรวจสอบ

การศึกษาในปี 2019 พบว่าสถาบันประเมินความเสี่ยงแห่งชาติของเยอรมนี ได้รายงานผลการประเมินความเสี่ยงของไกลโฟเซตว่า “ไม่พบความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง” มีผู้ไปพบว่าในรายงานมีส่วนของข้อความที่คัดลอกมาจากการศึกษาของบริษัทมอนซานโต้

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 มีรายงานว่า มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวน 24 เรื่องที่ส่งไปยังหน่วยงานกำกับดูแลของเยอรมัน เพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยของไกลโฟเซตที่มาจากห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ของเยอรมันที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและทำผิดกฎหมายอื่นๆ

 

การประชุมร่วมกันของ WHO/FAO 

การประชุมร่วมกันในเรื่องสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลด้านสารกำจัดศัตรูพืชแห่งชาติและองค์กรวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศในปี 2016 (WHO/FAO Joint Meeting on Pesticide Residues)  ที่ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการยุโรป, หน่วยงานกำกับดูแลการจัดการศัตรูพืชของแคนาดา, สำนักงานสารกำจัดศัตรูพืชและยารักษาสัตว์แห่งออสเตรเลีย และสถาบันประเมินความเสี่ยงแห่งชาติเยอรมัน มีความเห็นพ้องกันว่า “ไกลโฟเซตไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในมนุษย์” แต่เป็นข้อสรุปที่มัวหมอง มีความกังวลเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจากผู้นำของสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตนานาชาติ (International Life Sciences Institute) เป็นประธานกลุ่มที่ได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากมอนซานโต้และเป็นหนึ่งในองค์กรล็อบบี้

 

หน่วยงานในสหรัฐอเมริกา

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (Environmental Protection Agency; EPA) ได้ออกรายงานเมื่อเดือนกันยายน 2016 สรุปว่าไกลโฟเซต “ไม่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์” ในขนาดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2517 EPA ได้ออกร่างรายงานเกี่ยวกับไกลโฟเซตอย่างต่อเนื่องเพื่อยืนยันว่าสารเคมีชนิดนี้ไม่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง

ในเดือนเมษายน 2019 EPA ยืนยันอีกครั้งว่า “ไกลโฟเซตไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน”

แต่ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน 2019 สำนักงานสารพิษและทะเบียนโรคสหรัฐ (Agency for Toxic Substances and Disease Registry; ATSDR) รายงานว่า “มีการเชื่อมโยงระหว่างไกลโฟเซตและมะเร็ง” มีการศึกษาจำนวนมากที่รายงาน การสัมผัสไกลโฟเซตมีความเสี่ยงการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL (Non-Hodgkin Lymphoma) หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา (multiple myeloma) 

เมื่อเดือนมีนาคม 2017 สำนักงานประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อมของสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแคลิฟอร์เนีย (California OEHHA) ยืนยันว่าจะเพิ่มไกลโฟเซตลงในรายการ 65 ของข้อเสนอของสารเคมีที่รู้จักกันว่าก่อให้เกิดมะเร็ง มอนซานโต้ฟ้องเพื่อปิดกั้นการกระทำ แต่คดีถูกยกฟ้อง

ในอีกคดีหนึ่ง ศาลตัดสินว่ารัฐแคลิฟอร์เนียไม่สามารถเรียกร้องให้มีการเตือนโรคมะเร็งสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีไกลโฟเซต เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2018 ศาลแขวงในสหรัฐอเมริกาปฏิเสธคำขอของอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้ศาลพิจารณาคำวินิจฉัยอีกครั้ง ศาลพบว่ารัฐแคลิฟอร์เนียสามารถทำได้เพียงกล่าวสุนทรพจน์ในเชิงพาณิชย์ที่เปิดเผย“ ข้อมูลที่เป็นจริงและไม่มีข้อโต้แย้ง” และการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็งจริง

 

การศึกษาด้านสุขภาพเกษตรในสหรัฐ

งานวิจัยระยะยาวที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาข้อมูลของครอบครัวชาวนาในรัฐไอโอวาและนอร์ทแคโรไลนา ผลการศึกษาสรุปว่า “ไม่พบความเชื่อมโยงใดๆ ระหว่างการใช้ไกลโฟเซตกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL (Non-Hodgkin Lymphoma)” การศึกษาได้เผยแพร่สู่สาธารณะในปลายปี 2017

 

การศึกษาล่าสุดรายงานการเชื่อมโยงมะเร็งและความกังวลเกี่ยวกับ “ความถูกต้องของการจำแนกประเภทไกลโฟเซตของ EPA (สหรัฐ)”

กุมภาพันธ์ 2020: เอกสารของอนามัยสิ่งแวดล้อม “ การวิเคราะห์ประมวลข้อมูลการก่อสารมะเร็งในสัตว์สำหรับไกลโฟเซต จากการศึกษาหนูที่สัมผัสสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน  A comprehensive analysis of the animal carcinogenicity data for glyphosate from chronic exposure rodent carcinogenicity studies ” รายงานความเป็นไปได้ทางพิษวิทยาเกี่ยวกับเหตุผลที่ไกลโฟเซตอาจทำให้เกิดมะเร็งชนิดต่างๆในสัตว์ฟันแทะ

เมษายน 2019: สำนักงานสารพิษและทะเบียนโรคสหรัฐ (ATSDR) ได้ออกร่างข้อมูลทางพิษวิทยาสำหรับไกลโฟเซต ซึ่งรายงานความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นจากการสัมผัสไกลโฟเซต ซึ่งบริษัท Monsanto พยายามขัดขวางการออกรายงานฉบับนี้ของ ATSDR

มีนาคม 2019: งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระบาดวิทยานานาชาติ (International Journal of Epidemiology) ซึ่งได้วิเคราะห์ข้อมูลจากเกษตรกรกว่า 30,000 ราย ในฝรั่งเศส นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา ได้รายงานการเชื่อมโยงระหว่างไกลโฟเซตและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด diffuse large B-cell lymphoma

กุมภาพันธ์ 2019: งานวิจัยการวิเคราะห์เชิงสถิติที่ตีพิมพ์ในวารสาร Mutation Research/Reviews in Mutation Research ได้รายงาน “การเชื่อมโยงที่น่าสนใจระหว่างสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด non-Hodgkin lymphoma” ทีมงานวิจัยสามคนซึ่งเป็นสมาชิกของคณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของ EPA เกี่ยวกับไกลโฟเซต ได้กล่าวต่อสาธารณชนว่า EPA ล้มเหลวในการปฏิบัติตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมในการประเมินไกลโฟเซต

มกราคม 2019: งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมยุโรป (Environmental Sciences Europe) ได้แย้งการจัดหมวดหมู่ไกลโฟเซตของ EPA ว่าเป็นไปโดยไม่สนใจหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของความเป็นพิษต่อพันธุกรรม (ผลกระทบทางลบต่อสารพันธุกรรมของเซลล์) ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ฆ่าวัชพืชเช่น Roundup

กุมภาพันธ์ 2019 สำนักข่าว CNN รายงานผลของงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่ศึกษาสารเคมีในยากำจัดวัชพืชต่างๆ รวมทั้ง Roundup ของ Monsanto ผลการวิเคราะห์สรุปว่า สารไกลโฟเซตเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL (Non-Hodgkin Lymphoma) อย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งสำหรับผู้ที่สัมผัสกับมันถึง 41% 

 

 

Imagine Dragons – Demons

 

 

การฟ้องร้องคดี “มะเร็งราวด์อัพ” (Roundup Cancer Lawsuits)

Roundup ยาฆ่าวัชพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลกของบริษัทมอนซานโต้ (Monsanto) ถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma; NHL) บรรดาคนงานเกษตรและชาวสวนผู้ใช้ Roundup ที่กำลังป่วยเป็นโรคมะเร็ง ได้ยื่นฟ้อง Monsanto เป็นจำนวนกว่า 52,500  คน โดยอ้างว่าพวกเขาป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL จากการสัมผัสยาฆ่าวัชพืชชนิดนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่บริษัทยังคงยืนยันว่า ไกลโฟเซต (glyphosate) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ใน Roundup ไม่ใช่สารก่อมะเร็งในมนุษย์

ความปลอดภัยของสารไกลโฟเซตเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงมากที่สุด องค์การเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่าสารเคมีชนิดนี้ “อาจเป็นสารก่อมะเร็ง”

บริษัทไบเออร์ (Bayer) ของเยอรมนีที่เข้าควบกิจการของ Monsanto เมื่อปี 2018 ยืนยันในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ Roundup มาโดยตลอด Bayer ตอบโต้ว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายๆ การวิจัยชี้ว่า “สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโซเฟตเป็นส่วนผสมหลักไม่ได้เป็นต้นเหตุทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์”

จากข้อมูลเดือนเมษายน 2020 Bayer-Monsanto ต้องเผชิญกับการฟ้องร้องในคดี “มะเร็งราวด์อัพ” (Roundup Cancer lawsuits) โดยโจทก์กว่า 52,500 รายทั่วสหรัฐอเมริกาซึ่งอ้างว่าการได้รับยาฆ่าวัชพืช “Roundup” ซึ่งมีสารไกลโฟเซตเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ทำให้พวกเขาหรือคนที่พวกเขารักเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL (Non-Hodgkin Lymphoma)  คดีเหล่านี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลของรัฐและรัฐบาลกลาง 

จนถึงปัจจุบัน Bayer-Monsanto ได้แพ้การพิจารณาคดี Roundup Cancer มาแล้ว 3 คดี  บริษัทกำลังยื่นอุทธรณ์ โดยยืนยันว่าไกลโฟเซตไม่ก่อมะเร็งและปลอดภัยต่อการใช้งานของมนุษย์

 

คดีแรกในการฟ้องร้อง Roundup Cancer       

 

เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 คณะลูกขุนศาลเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้บริษัทมอนซานโต้ (Monsanto) มีความผิด เนื่องจากล้มเหลวในการเตือนถึงอันตรายของการก่อมะเร็งของยาฆ่าวัชพืช Roundup และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งโจกท์ฉีดพ่นเป็นประจำ ในคดีที่นายดีเวย์น จอห์นสัน (Dewayne Johnson) ชายชาวอเมริกัน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทมอนซานโต้ โดยกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์ปราบวัชพืช Roundup ของบริษัทมอนซานโต้ซึ่งมีสารไกลโฟเซต (glyphosate) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จากการที่เขาใช้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นประจำขณะทำงานเป็นคนสวนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma; NHL) ระยะสุดท้ายเมื่อปี 2014

คณะลูกขุนตัดสินให้มอนซานโต้ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทหนึ่งของไบเออร์เอจี (Bayer AG) จ่ายเงินชดเชยจำนวน 289 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9,000 ล้านบาท) แก่นายดีเวย์น จอห์นสัน แต่ต่อมาผู้พิพากษาพิจารณาลดลงเหลือ 78 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,400 ล้านบาท)

ปัจจุบัน นายดีเวย์น จอห์นสัน ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและกำลังต่อสู้กับโรคร้ายที่เขาเป็นอยู่ เขากล่าวว่า ” ผมชนะคดีความแห่งประวัติศาสตร์ แต่ผมอาจไม่มีชีวิตอยู่เพื่อรับเงิน”

 

คดีที่สองในการฟ้องร้องคดี Roundup Cancer

dailymail.co.uk

นายเอ็ดวิน ฮาร์ดีแมน (Edwin Hardeman) อายุ 70 ​​ปีซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองซานตาโรซา รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวหาว่า ผลิตภัณฑ์ “ยาฆ่าหญ้าราวด์อัพ (Roundup)” ที่มีไกลโฟเซตเป็นส่วนผสมหลักของบริษัทมอนซานโต้ (Monsanto) เป็นสาเหตุทำให้เขาป่วยเป็นโรคมะเร็ง  Hardeman บอกคณะลูกขุนว่า เขาสัมผัสกับสเปรย์ของ Roundup เป็นประจำขณะฉีดพ่นผลิตภัณฑ์นี้เพื่อฆ่าวัชพืชและต้นโอ๊คพิษบนที่ดิน 56 เอเคอร์ของตัวเองมานานกว่า 26 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่เขาจะได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma; NHL) ซึ่งเป็นมะเร็งของระบบภูมิคุ้มกันในปี 2015 

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2019 คณะลูกขุนศาลเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย พบว่าผลิตภัณฑ์ Roundup มีข้อบกพร่องและ Monsanto ละเลยคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ เป็นสาเหตุให้ Hardeman ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL  คณะลูกขุนศาลสั่งให้บริษัท Monsanto จ่ายเงินชดเชยจำนวน 80 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,500 ล้านบาท) ให้กับ Hardeman

 

คดีที่สามในการฟ้องร้องคดี Roundup Cancer  

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 คณะลูกขุนแห่งศาลเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สั่งให้บริษัทมอนซานโต้ (Monsanto) จ่ายค่าเสียหาย 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับเหยื่อมะเร็งคู่สามีภรรยาชาวแคลิฟอร์เนีย – นายอัลวา (Alva Pilliod) อายุ 76 ปี และนางอัลเบอร์ตา (Alberta Pilliod) อายุ 74 ปี คู่สามีภรรยาได้ใช้ยาฆ่าวัชพืช Roundup เป็นเวลา 30 ปี สำหรับการกำจัดวัชพืชในสวนบริเวณบ้านของตัวเอง อัลวาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma; NHL) ในปี 2011 ส่วนภรรยาของเขา นางอัลเบอร์ตา ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเดียวกันในอีก 4 ปีต่อมา ซึ่งคณะลูกขุนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ Roundup ที่มีไกลโฟเซตเป็นส่วนผสมหลักของ Monsanto เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนามะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่คู่สามีภรรยาเป็นอยู่

ต่อมาผู้พิพากษาศาลสูง Winifred Smith ของศาลสูงแห่งแคลิฟอร์เนียในโอ๊คแลนด์กล่าวว่า ค่าชดเชยความเสียหายที่คณะลูกขุนตัดสินลงโทษ Monsanto ให้จ่ายแก่คู่กรณีจำนวนเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์นั้นมากเกินไปและไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และผู้พิพากษาได้พิจารณาลดการจ่ายเงินชดเชยลงเหลือ 86.7 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,700 ล้านบาท)

ผู้พิพากษายังกล่าวตำหนิ Monsanto ว่า หลักฐานในการพิจารณาคดีแสดงให้เห็นว่า “Monsanto ไม่ได้สนใจจริงๆจังๆ ว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นสาเหตุของมะเร็งหรือไม่” หลังจากที่หน่วยงานองค์การอนามัยโลกได้จัดให้ไกลโฟเสต (glyphosate) เป็นสารก่อมะเร็ง และมีคำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

 

 

The Chainsmokers – Kills You Slowly

 

 

ประเทศที่แบนแล้วและประเทศที่ประกาศจะแบนการใช้ไกลโฟเซต (Ban Glyphosate Use)

ประเทศดังต่อไปนี้ได้ออกคำสั่งห้ามการใช้ไกลโฟเซต 

เยอรมนี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม Svenja Schulze ประกาศมติจากคณะรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2019 ว่า เยอรมนีจะห้ามใช้ไกลโฟเซตภายในสิ้นปี 2023 ในระยะแรกจะเริ่มห้ามใช้สารเคมีดังกล่าวในสวนสาธารณะและสวนภายในบ้าน ร้านค้าปลีกบางแห่งในเยอรมนีได้นำสารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซต เช่น Roundup ออกจากชั้นวางเรียบร้อยแล้ว

เหตุผลหลักสำหรับการห้ามใช้ ไม่ใช่ความเสี่ยงของไกลโฟเซตที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ที่เป็นข้อถกเถียงกัน แต่เป็นความเสียหายที่สารกำจัดวัชพืชชนิดนี้ไปทำลายระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประชากรแมลงที่มีความสำคัญสำหรับการผสมเกสรของพืชอาหาร  รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม Svenja Schulze กล่าวว่า “สารเคมีชนิดนี้เป็นอันตรายต่อแมลง ก็จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ด้วย

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ เป็นที่รู้จักทั่วยุโรปในฐานะผู้ผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ ดังนั้นการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไกลโฟเซต อาจนำไปสู่ผลกระทบทางการเงินต่อบริษัทต่างๆ เช่น ไบเออร์ (Bryer) เจ้าของผลิตภัณฑ์ Roundup ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศเยอรมันนี

กรีซ

กรีซเป็นหนึ่งในเก้าประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ที่ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับแผนการของสหภาพยุโรป (EU) ที่จะอนุมัติการใช้ไกลโฟเซตอีกครั้ง ในระหว่างการลงคะแนนที่สำคัญเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017

รวมทั้งเป็นหนึ่งในหกประเทศใน EU ส่งจดหมายถึงกรรมาธิการสหภาพยุโรปในเดือนมกราคม 2018 เพื่อแสดงความกังวลถึงความเสี่ยงจากการใช้ไกลโฟเซต และเรียกร้องให้ EU ดำเนินการศึกษาเพื่อหาวิธีทางเลือกแทนการใช้ไกลโฟเซต

แต่ต่อมาเพียงไม่กี่เดือน รัฐบาลกรีซได้ตัดสินใจกระทำการกลับลำในจุดยืน ในเดือนมีนาคม 2018 กระทรวงเกษตรของกรีกได้อนุมัติการต่ออายุให้วางผลิตภัณฑ์  Roundup ของ Monsanto ในตลาดได้อีก 5 ปี จาก 6 มีนาคม 2018 ถึง 15 ธันวาคม 2023 หลังจากนั้นการใช้ Roundup ในประเทศจะสิ้นสุดลง

ลักเซมเบิร์ก

ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรป (EU) ที่ประกาศแบนการใช้ไกลโฟเซตทุกผลิตภัณฑ์ รัฐบาลลักเซมเบิร์กประกาศจะห้ามใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซตทุกผลิตภัณฑ์ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2020

การแบนจะดำเนินการในสามขั้นตอน: ถอนการอนุมัติการตลาดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ลดจำนวนหุ้นที่อนุญาตจนถึง 30 มิถุนายน และการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ในความเป็นจริงได้มีการหยุดใช้ไกลโฟเซตในฟาร์มเกษตรแล้วเกือบ 60% ของฟาร์มประเทศ  

เวียดนาม

เวียดนามตัดสินใจแบนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชทุกชนิดที่มีไกลโฟเซต การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 27 มีนาคม 2019 หลังจากคณะลูกขุนแคลิฟอร์เนียตัดสินให้บริษัท Bayer-Monsanto จ่ายค่าชดเชยให้แก่เหยื่อ Roundup การตัดสินใจได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างรวดเร็วโดยกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม ได้ถอดสารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซตออกจากรายการผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2019 แต่การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการประณามอย่างรวดเร็วโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ 

เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการดำเนินงานของบริษัทมอนซานโต้ในช่วงสงครามเวียดนาม บริษัทมอนซานโต้และดอว์เคมิคัล (Dow Chemical) ทำกำไรมหาศาลในฐานะที่เป็นผู้ผลิตหลักของ “ฝนเหลือง” ซึ่งเป็นสารเคมีฆ่าวัชพืชและสารทำให้ใบไม้ร่วงให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐ จุดมุ่งหมายคือการทำลายพืชผักในพื้นที่ชนบทที่เวียดกงครอบครอง ความเข้มข้นของสารพิษนั้นสูงกว่าระดับปกติในภาคเกษตรและนอกภาคสนามถึง 13 เท่า ฝนเหลืองมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้คนที่สัมผัสกับมัน แต่ยังส่งผลต่อลูกหลานด้วย เด็กที่ได้รับผลกระทบจากความผิดปกติโรคมะเร็งและตาบอด จากข้อมูลของสมาคมตัวแทนเหยื่อฝนเหลืองของเวียดนามระบุว่า ชาวเวียดนามกว่า 3 ล้านคนยังได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมด้านอุตสาหกรรมทางทหาร

ซาอุดิอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน

ห้าประเทศในในตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน แบนการใช้สารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตตั้งแต่ปี 2016 หลังจากที่ IARC กำหนดให้ไกลโฟเซตอยู่ในกลุ่ม 2A ที่ “อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์”

มาลาวี

กระทรวงเกษตรของมาลาวี ประกาศระงับใบอนุญาตนำเข้าไกลโฟเซตในเดือนเมษายน 2019

โตโก

ประเทศโตโกห้ามไม่ให้ “ นำเข้า ทำการตลาด หรือใช้ไกลโฟเสตและผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีไกลโฟเซตเป็นส่วนผสม”

 

ประเทศที่จำกัดการใช้ไกลโฟเซต (Restrict on Glyphosate Use)

ไทย

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้มีมติแบน 3 สารเคมีกำจัดวัชพืช คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เนื่องจากพบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพประชาชนมาอย่างยาวนาน โดยมีผลบังคับทันทีในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

หลังจากมติคณะกรรมการอันตรายออกไป ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งเกษตรกร ผู้นำเข้าอาหารสัตว์ต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหว ต้องการให้เลื่อนการแบน 3 สารเคมีออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าการห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชทั้งสามชนิด จะทำให้พวกเขามีรายจ่ายเพิ่มขึ้น และยังไม่มีวิธีทางเลื่อกอื่นที่เหมาะสมมาทดแทน

ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประท้วงคัดค้านการแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 ชนิดโดยเฉพาะไกลโฟเซต ทางสหรัฐฯ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลไทยขอให้ทบทวนการแบน พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ มายังประเทศไทย ในเวลาต่อมาสหรัฐฯ ได้ตัดสิทธิทางภาษี GSP สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังอเมริกามูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 40,000 ล้านบาท)

หลังจากที่ได้รับแรงกดดัน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ได้มีมติใหม่ “ยกเลิกการแบนไกลโฟเซต เปลี่ยนมาเป็น จำกัดการใช้แทน”  และเลื่อนการแบน พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเดิมกำหนดให้มีผลในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 แทน โดยให้เหตุผลว่า

“หลังจากการหารือเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีอันตราย…เราพบว่าเราไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ได้หากการห้ามเกิดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 การสั่งห้ามอย่างกะทันหันจะมีค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากต้องทำลายสารเคมีที่เหลืออยู่ในประเทศประมาณ 23,000 ตัน อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์อาจมีความลำบากในการพยายามหาวัตถุดิบ เนื่องจากไม่มีทางเลือกในการนำเข้าส่วนผสมที่ใช้สารเคมีเหล่านี้” และกระทรวงเกษตรจะถูกมอบหมายให้หาทางเลือกอื่นมาทดแทน

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 แบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

สหรัฐอเมริกา

แม้จะมีข้อสรุปจากรายงาน IARC ขององค์การอนามัยโลกในปี 2015 ว่าไกลโฟเซต (glyphosate) อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่หน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) ยืนยันว่าไกลโฟเซตไม่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ดังนั้นไกลโฟเซตจึงไม่ถูกห้ามจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา Roundup และสารกำจัดวัชพืชที่ใช้ไกลโฟเสตอื่นๆ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในประเทศ

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับบทสรุปที่เกี่ยวกับไกลโฟเซตของ EPA  “หลายรัฐและเมืองต่างๆ” ได้ออกคำสั่งแบน หรือกำจัดการใช้ หรือมีคำเตือนเกี่ยวกับการใช้ไกลโฟเซตอันเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพที่กำลังดำเนินการฟ้องร้องคดี “มะเร็งราวด์อัพ” (Roundup Cancer lawsuits)

กรกฎาคม 2017 รัฐแคลิฟอร์เนียกลายเป็นรัฐแรกในประเทศที่ออกคำเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับไกลโฟเซต โดยการเพิ่มไกลโฟเสตรัฐได้เพิ่มไกลโฟเซตลงในรายการ California Proposition 65 ซึ่งเป็นรายการสารเคมีที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง

เดนมาร์ก

หน่วยงานด้านสภาพแวดล้อมของเดนมาร์ก ประกาศให้ไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็ง และแนะนำให้เกษตกรเปลี่ยนไปใช้เป็นสารเคมีที่เป็นพิษน้อยลง ในเดือนกรกฎาคมปี 2018 รัฐบาลเดนมาร์กได้ใช้กฎระเบียบใหม่ในการห้ามใช้ไกลโฟเซตในพืชหลังการงอกใหม่ทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงสารตกค้างในอาหาร

สาธารณรัฐเช็ก

เมื่อเดือนกันยายน 2018 กระทรวงเกษตรของสาธารณรัฐเช็กได้ประกาศจะจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตอย่างเข้มงวดและห้ามฉีดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยว เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 แต่สารกำจัดวัชพืชเหล่านี้จะอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพอื่นๆ  รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร Toman กล่าวว่า “นี้เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญซึ่งเราต้องการลดการใช้ไกลโฟเซตอย่างมีนัยสำคัญ”

การประกาศดังกล่าวทำให้เกิดการต่อต้านจากเกษตรกรทั่วไป ที่อ้างว่าไม่มีทางเลือกที่เหมาะสมที่จะมาแทนไกลโฟเซตได้ ทำให้กระทรวงเกษตรต้องจำนนต่อแรงกดดัน ทำการกลับลำในการห้ามใช้ไกลโฟเซตที่ประกาศก่อนหน้านี้ โดยผ่อนปรนการแบนและขยายเวลาการใช้ Roundup และไกลโฟเซตไปจนถึงสิ้นปี 2022  โดยอ้างความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของเกษตรในระดับสูง รัฐบาลจะใช้เวลาในการตัดสินใจโดยดูสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตรวจสอบว่า Roundup ว่าเป็นอย่างไรและเมื่อไร

รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร Toman กล่าวว่า  “เราไม่สามารถห้ามใช้ไกลโฟเซตได้ในตอนนี้ แต่เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม”

เบลเยียม

เบลเยี่ยมซึ่งมีการปกครองแบบสหพันธรัฐ ในปี 2016 ได้อนุมัติพระราชกฤษฎีกาให้รัฐบาลแต่ละเขตปกครองมีอำนาจพิจารณาการห้ามใช้ไกลโฟเซต

โดยเขตเมืองหลวงบรัสเซลส์และเขตปกครองวาโลเนีย ได้ออกกฤษฎีกาของตนเองเพื่อห้ามการใช้ไกลโฟเซตภายในอาณาเขตของตน

ในเดือนตุลาคม 2018 รัฐบาลเบลเยี่ยมห้ามการจำหน่ายสารกำจัดวัชพืชในวงกว้าง (รวมถึงไกลโฟเซต) ให้กับผู้ใช้ที่ไม่ใช่มืออาชีพทั่วประเทศ

อิตาลี

กระทรวงสาธารณสุขของอิตาลีจำกัดการใช้ไกลโฟเซตหลายประการ  สมาชิกสภานิติบัญญัติของอิตาลีได้หยิบยกข้อกังวลในความปลอดภัยของไกลโฟเซต รัฐบาลอิตาลีสั่งห้ามการใช้ไกลโฟเซตฉีดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยว และในพื้นที่เกษตรที่ประชาชนเข้ามาบ่อยครั้ง 

เนเธอร์แลนด์

ตั้งแต่ปลายปี 2015 เป็นต้นไป ยากำจัดวัชพืชอันดับหนึ่งของโลก ‘Roundup’ ของ Monsanto จะถูกจำกัดการขายในเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากความกังวลในเรื่องสุขภาพของประชาชน หลังจากที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า “ไกลโฟเซตอาจเป็นสารก่อมะเร็ง” 

แม้ว่าจะมีการจำกัดการขาย RoundUp ของ Monsanto ไปเมื่อหลายปีก่อน แต่สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซตอื่นๆ ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในเนเธอร์แลนด์ เกษตรกรเห็นว่าสารพิษทางการเกษตรมีราคาถูกกว่าสารทางเลือก และพวกมันทำงานมีประสิทธิภาพดีกว่าทางเลือกที่ไม่มีสารพิษ

สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร Carola Schouten เธอกล่าวว่า “เนเธอร์แลนด์ต้องการที่จะลดการใช้สารพิษ ส่วนการห้ามใช้ในประเทศนั้นยังเป็นขั้นตอนที่ไกลเกินไป ดังนั้นมันจะไม่ถูกห้ามในอนาคตอันใกล้”

สวิตเซอร์แลนด์

ปัจจุบันไกลโฟเซตเป็นยาฆ่าวัชพืชที่ได้รับอนุญาตเพียงชนิดเดียวสำหรับการใช้งานในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จากความกังวลในความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้เครือซุปเปอร์มาร์เก็ตของสวิตเซอร์แลนด์ Migros และ Coop นำผลิตภัณฑ์ที่มีไกลโฟเซตออกจากชั้นวาง

ในปี 2017 พรรคกรีน (Green party) เสนอแผนการที่จะห้ามการใช้ไกลโฟเซตในสวิตเซอร์แลนด์ แต่ถูกปฏิเสธจากสภาบริหารกลางของสวิตเซอร์แลนด์

ในเดือนมิถุนายน 2019 ทางการรถไฟของรัฐบาลกลางสวิสซึ่งใช้ไกลโฟเซตในการกำจัดวัชพืชที่ขึ้นตามเส้นทางเดินรถ และได้ประกาศจะหยุดใช้สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซตภายในปี 2025 เนื่องจากสารกำจัดวัชพืชมีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม และจะหันไปใช้วิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน บริษัทกำลังทำการทดสอบหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการใช้น้ำร้อน และสารกำจัดวัชพืชชีวภาพ 

สวีเดน

ในปี 2017 สำนักงานสารเคมีแห่งสวีเดน (SCA) ประกาศว่ากำลังวางแผนที่จะกระชับกฎระเบียบเกี่ยวกับสารเคมีที่บุคคลสามารถนำไปใช้กับพืช ภายใต้แผนนี้ผู้ใช้ส่วนตัวจะได้รับอนุญาตให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี “สารที่มีความเสี่ยงต่ำ” เท่านั้น ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น คือ ไกลโฟเซตจะถูกห้ามใช้ เนื่องจากไม่อยู่ในรายการสารกำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลงที่มีความเสี่ยงต่ำของสหภาพยุโรป ผลิตภัณฑ์ไกลโฟเซตส่วนใหญ่ถูกจำกัดให้ใช้ได้ในระดับมืออาชีพเท่านั้น

สกอตแลนด์

ในปี 2019 สภาของสกอตแลนด์อยู่ภายใต้ความกดดันในความพยายามที่จะลดการใช้สารไกลโฟเซต หลังจากการตรวจสอบพบว่ามีเพียง 2 ใน 32 หน่วยงานท้องถิ่นของสกอตแลนด์ที่มีนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อลดการใช้ยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืชบนที่ดินสาธารณะ ส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่าวิธีทางเลือกมีราคาแพงและค่าใช้จ่ายจะเกินงบประมาณที่จำกัดของพวกเขา และอ้างว่าบริษัทข้ามชาติยืนยันในความปลอดภัยของไกลโฟเสต อย่างไรก็ตามพวกเขายืนยันว่ากำลังพยายามมองหาทางเลือกที่เหมาะสมหรือจำกัดการใช้งาน

สโลวีเนีย

ในปี 2017 รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสโลวีเนียมีมติสนับสนุนการห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซต และต้องใช้เวลา 3 ถึง 5 ปีในการเปลี่ยนผ่านวิธีการทางการเกษตร  รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร Dejan Židan เห็นด้วยที่ว่า การไม่ใช้สารเคมีหรือใช้เพียงเล็กน้อยในการผลิตอาหารเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่สิ่งนี้จะนำมาซึ่งราคาที่สูงขึ้น

รัฐบาลได้จำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืชในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2019 ผู้ดูแลของพื้นที่เหล่านี้จะต้องค้นหาวิธีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช้สารเคมีในการควบคุมวัชพืช

สเปน

บาร์เซโลนา, มาดริด, ซาราโกซ่า และแคว้นเอซเตรมาดูรา ได้ตัดสินใจห้ามใช้ไกลโฟเซต นอกจากนี้แคว้นลารีโอคา (พื้นที่ปลูกไวน์ที่สำคัญของสเปน) และแคว้นอารากอน ได้อนุมัติการเคลื่อนไหวต่อต้านสารเคมีที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDC) รวมทั้งไกลโฟเซต 

โปรตุเกส

โปรตุเกสไม่อนุญาตให้ใช้ไกลโฟเซตในพื้นที่สาธารณะใดๆ เช่น สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว หรือสนามกีฬา นอกจากนี้นายกสมาคมการแพทย์โปรตุเกส (PMA) ยังเรียกร้องให้แบนไกลโฟเซตทั่วโลก

การทดสอบล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศ เผยให้เห็นปริมาณไกลโฟเซตในระดับสูงในตัวอย่างปัสสาวะของผู้คนในประเทศ

ในปี 2019 กลุ่มผู้สนับสนุน Plataforma Transgénicos Fora  เรียกร้องให้แบนการใช้ไกลโฟเซตในโปรตุเกส

ออสเตรเลีย

หลังจากการตัดสินของคณะลูกขุนจำนวนมากในคดีมะเร็ง Roundup ในสหรัฐอเมริกา รัฐวิคตอเรียของออสเตรเลียได้เปิดให้มีการทบทวนการใช้ไกลโฟเซตบนที่ดินสาธารณะ การตรวจสอบพบว่ามีความปลอดภัยสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่จะใช้งานต่อไป ตราบใดที่มีการปฏิบัติตามโปรโตคอลความปลอดภัยที่เหมาะสมและขั้นตอนภายใน

สภาเมืองซิดนีย์มีมติให้แบนการใช้ไกลโฟเซต และอีกแปดสภากำลังพิจารณาสารเคมีชนิดนี้ เทศบาลและเขตโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศกำลังทดสอบ “สารกำจัดวัชพืชทางเลือก” เพื่อกำจัดการใช้ไกลโฟเซต หลายคนใช้เทคโนโลยีไอน้ำเพื่อควบคุมวัชพืชบนถนนและในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ

นิวซีแลนด์

ไม่มีข้อห้ามในระดับประเทศ แต่บางเมืองได้แก่ เมืองโอ๊คแลนด์และไครสต์เชิร์ช มีการห้ามใช้ไกลโฟเซตในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ และสนามกีฬา

แคนาดา

8 จาก 10 จังหวัดในแคนาดา มีข้อห้ามในการใช้ไกลโฟเซตในพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ของเอกชน

แวนคูเวอร์ เมืองหลวงของแคนาดา ห้ามภาครัฐและเอกชนใช้ไกลโฟเซตในกิจกรรมที่นอกเหนือจากการกำจัดวัชพืชที่รุกรานพืชผลทางการเกษตร

จากการตรวจสอบสารเคมีทางการเกษตรเป็นระยะๆ หน่วยงานกำกับดูแลด้านการจัดการศัตรูพืชของ Health Canada ได้ประเมินไกลโฟเซตในปี 2017 โดยทำการศึกษามากกว่า 1,300 ครั้ง และได้ข้อสรุปที่เหมือนกับหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) ว่า “ไกลโฟเซตไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์” อย่างไรก็ตามมีการคัดค้านหลายเรื่อง โดยกล่าวหาว่าผู้ผลิตมอนซานโต้มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์นี้ (EPA ก็เผชิญกับข้อกล่าวหาที่คล้ายกัน)

ศรีลังกา

รัฐบาลศรีลังกาสั่งห้ามการนำเข้าสารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซตทุกผลิตภัณฑ์ในเดือนตุลาคม 2015 หลังจากมีการรณรงค์เรื่องความกลัวว่าสารเคมีทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง

แต่ในเดือนกรกฎาคม 2018 รัฐบาลศรีลังกายกเลิกการแบนไกลโฟเซต เนื่องจากวัชพืชสร้างความเสียหายในอุตสาหกรรมชาซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ศรีลังกาเพียงจำกัดการใช้สารเคมีชนิดนี้ ให้ใช้ได้กับสวนชาและยางเท่านั้น

ปี 2019 สองนักวิทยาศาสตร์ชาวศรีลังกา Channa Jayasumana และ Sarath Gunatilake ได้รับรางวัลจากสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (AAAS) จากผลงานการศึกษา “พบการเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างไกลโฟเซตที่ปนเปื้อนในน้ำดื่มและโรคไตเรื้อรังในมนุษย์”

อินเดีย

ในเดือนตุลาคมปี 2018 รัฐบาลของรัฐปัญจาบได้สั่งห้ามการจำหน่ายและการใช้ไกลโฟเซตนักฆ่าวัชพืชและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ที่มีการอ้างถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 รัฐเกรละของอินเดียได้ออกคำสั่งห้ามการจำหน่ายและการใช้ไกลโฟเซต

คอสตาริกา

ในเดือนธันวาคม 2019 หน่วยงานที่ดูแลพื้นที่อนุรักษ์แห่งชาติของคอสตาริกา (SINAC) ได้ห้ามการใช้สารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตในพื้นที่ป่าคุ้มครองทั้งหมดในประเทศรวมถึงที่ดินที่ SINAC เป็นเจ้าของทั้งหมด

อาร์เจนติน่า

ในปี 2015 ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพมากกว่า 30,000 คนสนับสนุนให้แบนไกลโฟเซต หลังจากที่องค์การเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก ได้สรุปว่าไกลโฟเซตอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ มากกว่า 400 เมืองในอาร์เจนตินาออกมาตรการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต

เม็กซิโก

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 กระทรวงสิ่งแวดล้อมของเม็กซิโก ได้ปฏิเสธใบอนุญาตนำเข้าไกลโฟเซต 1,000 ตันจากสหรัฐอเมริกามายังเม็กซิโก ตามข้อสันนิษฐานว่า“ การใช้งานอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงและความเสียหายต่อสุขภาพที่ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้”

มีการถกเถียงเรื่องไกลโฟเซตเพิ่มมากขึ้นในเม็กซิโก หลังจากการตีพิมพ์การศึกษาโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยกวาดาลาฮาราในเดือนกันยายน 2019 นักวิจัยตรวจพบการเพิ่มขึ้นของการเกิดโรคความเสื่อมเรื้อรังในประชากรของ Autlán de Navarro ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในรัฐฮาลิสโก

เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรคนี้ ทีมนักวิจัยได้เก็บปัสสาวะจากเด็กๆ ในโรงเรียน มาทำการวิเคราะห์ทางเคมี จากการตรวจเด็ก 148 คน ทุกคนมีร่องรอยของสารเคมีกำจัดวัชพืชในปัสสาวะ สารที่มีปริมาณมากที่สุดและที่อันตรายที่สุดคือ “ไกลโฟเซต” เด็กส่วนใหญ่มีอาการทางพยาธิวิทยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และระคายเคืองผิวหนัง

โคลอมเบีย

ในปี 2015 โคลัมเบียประกาศว่าจะหยุดใช้ยาฆ่าวัชพืชที่มีไกลโฟเซตเพื่อทำลายไร่โคคาที่ผิดกฎหมายซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตโคเคน การตัดสินใจนี้ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ไกลโฟเซตเป็น “อาจเป็นสารก่อมะเร็ง” ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกใช้ในโครงการต่อต้านยาเสพติดที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในอเมริกาใต้

ในเดือนมีนาคม 2019 โคลัมเบียต้องการกลับมาใช้ไกลโฟเซตอีกครั้ง ประธานาธิบดี Ivan Duque ต้องการใช้มันเป็นอาวุธหลักในการต่อสู้กับการเพาะปลูกต้นโคคาที่ผิดกฎหมายและการค้าโคเคน จึงได้ขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งห้ามการฉีดพ่นไกลโฟเซตทางอากาศ อย่างไรก็ตามในเดือนกรกฎาคม 2019 ศาลยังคงมีคำสั่งห้ามการใช้ไกลโฟเซต รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไกลโฟเซตไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การสั่งห้ามถูกยกเลิก

เบอร์มิวดา

รัฐบาลเบอร์มิวดาได้แบนการสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตในปี 2017 ต่อมารัฐบาลได้ผ่อนคลายการห้ามใช้ไกลโฟเซต ซึ่งทำให้กรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติสามารถนำเข้าสารไกลโฟเซตที่มีความเข้มข้นแบบจำกัด สำหรับการจัดการวัชพืชริมถนน

 

ประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจน (Unclear on Glyphosate Use)

ออสเตรีย: ในเดือนกรกฎาคม 2019 รัฐสภาออสเตรียได้ลงมติเห็นชอบห้ามการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซต (glyphosate) ทั้งหมดในประเทศ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 แต่ทว่ากฎหมายห้ามการใช้สารไกลโฟเซตยังไม่มีผลบังคับใช้ตามที่วางแผนไว้ มีการเลื่อนการแบนนี้ออกไป  และสถานการณ์โดยรอบยังไม่ชัดเจน

ฝรั่งเศส

เมื่อเดือนธันวาคมปี 2019 หน่วยงานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส (ANSES) ได้ประกาศจะถอนถอดผลิตภัณฑ์ไกลโฟเซต 36 รายการออกจากตลาด จากทั้งหมด 69 รายการซึ่งจำหน่ายในฝรั่งเศส รวมถึงคำขอเปิดตัวผลิตภัณฑ์ไกลโฟเซตใหม่ก็ถูกปฏิเสธจาก ANSES เช่นกัน ผลิตภัณฑ์ไกลโฟเซตที่จะถูกห้ามใช้คิดเป็นปริมาณ 3 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์ไกลโฟเซตที่ใช้ในฝรั่งเศส เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในการยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยทั้ง 36 รายการจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อีกต่อไปหลังสิ้นปี 2020

แต่ในเดือนมีนาคม 2020 นาย Guillaume รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสได้เปลี่ยนจุดยืนทางนโยบายในประเทศ โดยประกาศให้ “ไกลโฟเซตเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านเกษตรนิเวศน์ (agroecological transition)” การเกษตรเพื่อการอนุรักษ์ดินมีความจำเป็นต้องใช้ยาปราบวัชพืชไกลโฟเซต เนื่องจากเรายังไม่มีทางเลือกอื่นมาแทนที่ไกลโฟเซตได้

เกษตรกรของฝรั่งเศสต่างยินดีกับความคิดเห็นของรัฐมนตรี ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ ANSES เคยประกาศแผนการที่จะห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไกลโฟเซตเป็นส่วนประกอบ 36 รายการภายในสิ้นปี 2020

การเปลี่ยนจุดยืนของฝ่ายบริหารของฝรั่งเศส ทำให้เกิดการกังขาในแผนการดังกล่าว

บราซิล

ในเดือนสิงหาคม 2018 ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางตัดสินว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีไกลโฟเซตไม่สามารถลงทะเบียนได้ในประเทศ ระเบียบที่มีอยู่ที่เกี่ยวกับไกลโฟเซตก็ถูกระงับด้วยเช่นกัน เพื่อรอการประเมินข้อมูลทางพิษวิทยาโดย Anvisa ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสุขภาพของประเทศ

ในเดือนกันยายน 2018 ศาลบราซิลคว่ำการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาของรัฐบาลกลาง ประเทศเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นที่พึ่งของอุตสาหกรรมเคมีเกษตรอย่างมาก Anvisa ออกแถลงการณ์เพื่อตอบโต้คำตัดสินของศาลที่คว่ำการพิจารณาคดี โดยกล่าวว่าจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายและทางเทคนิคที่จำเป็น นอกจากนี้สำนักงานทนายความของบราซิลได้กล่าวว่า กำลังเตรียมยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาล โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตร

จากการวิเคราะห์ของหลายๆฝ่ายพบว่า การห้ามไกลโฟเซตในบราซิลไม่น่าเป็นไปได้

 

 

Taylor Swift – Blank Space

 

 

พืชดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Crops; GM crops)

medium.com

สารเคมีกำจัดวัชพืช (Herbicides) เป็นสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าวัชพืช ซึ่งดูเหมือนเป็นทางออกที่ยอดเยี่ยม อย่างไรก็ตามปัญหาคือ สารเคมีเหล่านี้สามารถฆ่าพืชผลที่เกษตรกรพยายามปกป้องด้วย 

เพื่อแก้ปัญหานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมในการสร้างพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม (GM crops) ส่วนใหญ่ของพืชจีเอ็มเป็นพืชเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ พืชที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานยากำจัดวัชพืช (Herbicide tolerance GM crops) และพืชที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานต่อแมลงศัตรูพืช (Insect resistant GM crops)

พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืช ส่วนใหญ่ได้ถูกพัฒนาให้มีความต้านทานต่อสารกำจัดวัชพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “ไกลโฟเซต” ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในยากำจัดวัชพืช “ราวด์อัพ (Roundup)” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ไกลโฟเซตในการฆ่าวัชพืชโดยไม่สร้างความความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร

พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืชที่สำคัญมี 3 ชนิด คือ ถั่วเหลือง ข้าวโพด และฝ้าย ปัจจุบันถั่วเหลืองที่ปลูกในสหรัฐอเมริกาเกือบทั้งหมดเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนต่อไกลโฟเซต

แม้ว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์มากในสหรัฐอเมริกา และมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในหลายๆประเทศ บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่พัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมอ้างว่า พืชเหล่านี้ทำให้การใช้สารกำจัดวัชพืชลดลง เกษตรกรใด้ผลผลิตมากขึ้น  แต่ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้กลับพบว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนต่อไกลโฟเซต มีผลทำให้เกษตรกรใช้ไกลโฟเซตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการปนเปื้อนสารเคมีชนิดนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสุขภาพของผู้ใช้สารเคมี มีการถกเถียงกันถึงความปลอดภัยของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมและพืชเหล่านี้ยังถูกแบนในหลายประเทศ

 

Superweeds: End Game สำหรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนต่อไกลโฟเซต

ในปี 1970 เกษตรกรบางคนสังเกตเห็นว่า แม้จะถูกฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช แต่มีวัชพืชบางชนิดสามารถอยู่รอดได้ เกษตรกรตระหนักว่าวัชพืชเหล่านี้เกิด “การดื้อยา” พวกมันสามารถพัฒนาความต้านทานสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืช (Herbicide tolerance GM crops) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเกษตรกรในการต่อสู้กับวัชพืช บริษัทผู้พัฒนาพืชชนิดนี้ อ้างว่าจะนำไปสู่การลดการใช้สารกำจัดวัชพืช แต่ผลการศึกษาเมื่อเร็วนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น ผลการศึกษาหลายเรื่องพบว่า การปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืชที่เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ “การเพิ่มขึ้นของการใช้สารกำจัดวัชพืช” และก็นำไปสู่ “การเพิ่มขึ้นของวัชพืชที่ดื้อต่อสารกำจัดวัชพืช ที่เรียกว่า “สุดยอดวัชพืช (Superweeds)” 

ความต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืชในวัชพืชนั้น มาจากการใช้สารกำจัดวัชพืชแบบเดิมๆ ซ้ำๆ การใช้มากเกินไปทำให้วัชพืชเกิดการดื้อสารเคมีนั้นๆ

 

phys.org

เมื่อปี 2012 มีผลงานวิจัยที่เผยแพร่โดย Charles Benbrook ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยรัฐวอชิงตัน ที่ศึกษาการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในไร่พืชดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Crops; GM crops) 3 ชนิด ได้แก่ ฝ้าย ถั่วเหลือง และข้าวโพด จากการศึกษาพบว่า การปลูกพืชจีเอ็มที่ทนต่อสารไกลโฟเซต (GM glyphosate-tolerant crops) อย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการแพร่กระจายของวัชพืชที่ดื้อต่อไกลโฟเซต ส่งผลให้มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น การค้นพบนี้ขัดแย้งกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพผู้พัฒนาพืชจีเอ็มที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืช ที่อ้างว่าเทคโนโลยีนี้จะลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช

การเกิดขึ้นและการแพร่กระจายของวัชพืชที่ดื้อต่อไกลโฟเซต หรือ Superweeds เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ผลักดันให้มีการใช้สารกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้นในที่ดินที่ปลูกด้วยพืชจีเอ็ม การเกิดขึ้นของวัชพืชที่ดื้อยาได้กลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกพืชชนิดนี้ ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการใช้สารกำจัดวัชพืชที่จำเป็นประมาณ 25% ในแต่ละปี ศาสตราจารย์ Benbrook กล่าว

 

Genetically engineered crops and pesticide use in U.S. maize and soybeans งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ในปี 2016 ของนักเศรษฐศาสตร์สี่คน Federico Ciliberto จากมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย, Edward D. Perry จากมหาวิทยาลัยรัฐแคนซัส, David A. Hennessy จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน และ GianCarlo Moschini จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอวาของสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาเกี่ยวกับการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมกับการใช้สารกำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลง นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสี่ศึกษาข้อมูลระดับฟาร์ม 14 ปีจากเกษตรกรทั่วสหรัฐอเมริกาซึ่งได้แก่ เกษตรกรชาวไร่ถั่วเหลืองมากกว่า 5,000 ราย และเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพด 5,000 รายในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2011 ซึ่งมากกว่าการศึกษาก่อนหน้านี้ที่ศึกษาจากข้อมูลเพียง 1 หรือ 2 ปี

ผลการศึกษาพบว่า การปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐ ทำให้การใช้ยาฆ่าแมลงลดลง แต่การใช้สารกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น เนื่องจากวัชพืชมีความต้านทานมากขึ้น (ดื้อยากำจัดวัชพืช)

ตลอดระยะเวลา 14 ปี เกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้านทานต่อแมลง ใช้ยาฆ่าแมลงน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญคือ ลดลงประมาณ 11.2% – น้อยกว่าเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดพันธ์ุธรรมชาติซึ่งใช้สารกำจัดวัชพืชน้อยลงเพียงแค่ 1.3% 

สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้แก่นักวิจัย ปรากฎว่าเกษตรชาวไร่พืชถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้านทานต่อสารเคมีกำจัดวัชพืช กลับมีการใช้สารกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ  28% – มากกว่าเกษตรกรชาวไร่ถั่วเหลืองพันธ์ุธรรมชาติ

Ciliberto กล่าวว่า เรามีข้อมูลระดับฟาร์ม 14 ปีจากเกษตรกรทั่วสหรัฐอเมริกา ทำให้การศึกษานี้พิเศษมาก เราได้สังเกตการณ์ข้อมูลของเกษตรกรรายเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก และสามารถดูได้ว่า เวลาใดที่พวกเขานำเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ และเขาได้มีการเปลี่ยนการใช้สารเคมีอย่างไรบ้าง ในตอนแรก มีการลดลงของการใช้สารกำจัดวัชพืช แต่เมื่อเวลาผ่านไป การใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรต้องเพิ่มสารเคมีชนิดใหม่ เนื่องจาก “วัชพืชพัฒนาความต้านทานต่อไกลโฟเซต” หลักฐานแสดงให้เห็นว่า วัชพืชมีความต้านทานต่อไกลโฟเซตมากขึ้น และเกษตรกรต้องใช้สารเคมีเพิ่มเติมและมากขึ้น

ตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2011 เปอร์เซ็นต์ของการฉีดพ่นด้วยไกลโฟเซตต่อเฮกตาร์  หดตัวจากกว่า 70% เป็น 41% สำหรับเกษตรกรถั่วเหลือง และจากกว่า 40% เป็น 19% สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด การลดลงเกิดจากเกษตรกรต้องหันไปใช้สารเคมีอื่นๆ เนื่องจาก “วัชพืชที่ทนต่อไกลโฟเซต หรือ  Superweed” เพิ่มจำนวนมากขึ้น

สำหรับแมลงศัตรูพืชดูเหมือนจะไม่ได้พัฒนาความต้านทานที่คล้ายกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎระเบียบของรัฐบาลกลางสหรัฐที่กำหนดให้เกษตรกรต้องมี “ที่หลบภัย (safe havens)” ในฟาร์มของตนที่ปราศจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม แมลงและหนอนใน safe havens เหล่านั้นมีปฏิสัมพันธ์และผสมพันธุ์กับแมลงในส่วนอื่นๆ ของทุ่งหญ้า ทำให้ไม่จำเป็นต้องพัฒนาความต้านทาน 

แม้การใช้ยาฆ่าแมลงจะลดลง แต่การใช้ยากำจัดวัชพืชก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เนื่องจากสารเคมีในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มมลพิษทางน้ำและอากาศ

Ciliberto และเพื่อนร่วมงานของเขาได้ทำการวัดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยรวมของการเปลี่ยนแปลงการใช้สารเคมีที่เกิดจากการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม โดยใช้มาตรการที่เรียกว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือ EIQ เพื่อพิจารณาผลกระทบของสารเคมีที่มีต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใช้ที่ไม่ใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม พวกเขาพบว่าผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้านทานสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตมีความสัมพันธ์กับผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการใช้สารกำจัดวัชพืชที่เพิ่มขึ้นและการปนเปื้อนของระบบนิเวศในท้องถิ่น

โดยรวมแล้ว Ciliberto กล่าวว่า เขารู้สึกประหลาดใจจากการที่มีการใช้สารกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น และกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น “ ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะเห็นรูปแบบที่แข็งแกร่งเช่นนี้” เขากล่าว

 

จากรายงานปี 2017 พบวัชพืชที่พัฒนาความต้านทานต่อไกลโฟเซตประมาณ 38 ชนิดกระจายไปทั่วโลกใน 37 ประเทศ  Superweeds เหล่านี้สามารถแทรกซึมอยู่ในไร่นาในทุ่งนาและแย่งสารอาหารจากพืชที่มีคุณค่าที่ปลูกที่นั่น ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารกำจัดวัชพืชอื่นๆ ที่มีราคาแพง และกำจัดวัชพืชได้ยากขึ้นเพื่อควบคุมพวกมัน

แต่สำหรับผู้สนับสนุนการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมโดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ทนต่อสารไกลโฟเซต ยืนยันว่าไม่มีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับการพัฒนาของ Superweeds การพัฒนาความต้านทานเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ วัชพืชจะมีวิวัฒนาการในลักษณะเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และสิ่งมีชีวิตที่ดื้อได้นั้นก็ไม่มีอะไรพิเศษ แต่เป็น ‘ผู้รอดชีวิต’ และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเกษตรกรใช้สารกำจัดวัชพืชมากเกินไปกับพืชดัดแปลงพันธุกรรม เกษตรควรใช้สารกำจัดวัชพืชน้อยกว่านี้ หากใช้อย่างถูกต้อง 

 

 

Taylor Swift – Out Of The Woods